(เพิ่มเติม) เลือกตั้ง'54: เอกชนห่วงภาคปฏิบัตินโยบายศก.เพื่อไทย แนะแก้คอรัปชั่น-ลดเหลื่อมล้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 22, 2011 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดุสิต นนทนาคร ประธานกรรมการ หอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่นำโดยนายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย โดยภาคเอกชนได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่พรรคเพื่อไทยหากได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใน 2 ประการสำคัญ คือ การต่อต้านคอรัปชั่น และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่า ปัญหาคอรัปชั่นถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่บั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก และเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งการต่อต้านคอรัปชั่นจะส่งผลประโยชน์ต่อภาครัฐในการประหยัดงบประมาณของประเทศที่สูญเสียไป อีกทั้งประชาชนจะได้ประโยชน์จากการบริโภคสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นในราคาที่สมเหตุผล ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ประเทศอีกด้วย

ส่วนข้อเสนอเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้น ภาคเอกชนมองว่าที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศที่มุ่งแต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ไม่สามารถตอบสนองประชาชนในระดับฐานรากได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเหตุของความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้

ดังนั้น หอการค้าจึงเสนอการดำเนินการใน 2 ประเด็นหลัก คือ การเพิ่มรายได้ให้ประชาชน และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนนั้น มุ่งเน้นการดำเนินใน 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเกษตรกร ที่ต้องพัฒนาให้มีระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น เน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการลดต้นทุน 2.กลุ่มผู้ใช้แรงงาน หอการค้าไทยสนับสนุนการขึ้นค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและสอดคล้องกับคุณภาพฝีมือแรงงาน

ขณะที่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจนั้น แบ่งเป็น 1.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ประเทศไทยมีระบบการขนส่งทางรางที่มีประสิทธิภาพสามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี 2.การจัดทำแผนพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป 3.การค้าระหว่างประเทศ ที่ต้องให้ความสำคัญทั้งการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน

4.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5.การพัฒนาพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง 6.นโยบายด้านราคาสินค้า ที่ต้องดูแลราคาสินค้าให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อลดการบิดเบือนราคา 7.นโยบายด้านส่งเสริมการลงทุน โดยส่งเสริมให้เอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และ 8.ด้านสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนชรา และเยาวชน ซึ่งภาครัฐต้องส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิขั้นพื่นฐานในความเป็นพลเมือง ทั้งการศึกษา และสุขภาพ เป็นต้น

ด้านนายโอฬาร เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนนี้ มีหลายเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการอยู่แล้วหากได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งเรื่องการต้านทุจริตคอรัปชั่น และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ทั้งนี้ พรรคมีแผนจะพัฒนาเศรษฐกิจในระยะ 10 ปีหน้าในการขจัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากที่ไทยติดลำดับท้ายๆ ของโลกในเรื่องการกระจายรายได้ ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่นี้จะเป็นแบบ “Bottom Up"เน้นการพัฒนาตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไประดับกลาง คือ ตั้งแต่เกษตรกร, กลุ่มผู้ใช้แรงงาน, และพนักงานออฟฟิศ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีระดับรายได้ที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน การดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจะต้องเป็นแบบมิติใหม่ที่ไม่ใช่มุ่งเน้นเฉพาะเศรษฐกิจระดับมหภาคเท่านั้น แต่จะต้องมุ่งลงในราย sector ทั้งการผลิตภาคการเกษตร, อุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งพรรคจะให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมาเป็นอันดับแรก มากกว่าที่จะมุ่งให้ความสำคัญกับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มี GDP เป็นตัวกำหนด

“เรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เราให้ความสำคัญเป็นลำดับรองจากเรื่องการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม เราจะวางเป้าหมายเศรษฐกิจของประเทศแบบใหม่ คาดว่าเมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เสร็จราวปลาย ก.ย. เราจะเชิญสภาพัฒน์ฯ มาร่วมกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจทั้งในเรื่องการกระจายรายได้ และ GDP" นายโอฬาร กล่าว

สำหรับนโยบายการดูแลราคาสินค้าจะมุ่งเน้นใน 3 กลุ่มหลัก คือ สินค้าเกษตร, สินค้าพลังงาน และสินค้าอุปโภค-บริโภค โดยจะมีการวางไกด์ไลน์ราคาสินค้าทั้งหมดของประเทศ ด้วยการเชิญผู้ประกอบการในส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือ เพื่อใช้เป็นนโยบายการบริหารจัดการและดูแลราคาสินค้าให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

"สินค้าที่เรามองว่าราคาไม่เป็นธรรมมากที่สุด คือ ข้าว นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่มีการสร้าง demand เทียมคือ น้ำมันพืช หากเราได้เป็นรัฐบาลเราจะวางไกด์ไลน์ราคาสินค้าทั้งหมด...จริงๆ เราทำไว้หมดแล้ว แต่เรารณรงค์เฉพาะตัวที่กระทบกับคนมากที่สุดนั่นคือ ข้าว" นายโอฬาร ระบุ

นายดุสิต กล่าวในตอนท้ายว่า จากที่ได้รับฟังนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยแล้ว มองว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่การจะนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องสำคัญกว่าที่ต้องติดตามดู

"นโยบายดี แต่การจะนำไปสู่การปฏิบัติมันสำคัญกว่า บางคน present เก่ง แต่ทำไม่เป็น...เราต้องไม่ไปหลงเชื่อแผนที่ดีอย่างเดียว ต้องติดตามด้วยว่าปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ซึ่งคนไทยทุกคนก็ต้องติดตามผลด้วย ถ้าไม่ดีเราก็ต้องแสดงความไม่พอใจ แต่ถ้าดี เราก็ต้องชมเชย" นายดุสิต กล่าว

ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายดูแลสินค้าเกษตรของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ต่างก็มุ่งลดความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกร แต่การที่พรรคเพื่อไทยประกาศชูนโยบายรับจำนำข้าวกลับมาใช้นั้นถือเป็นวิธีการที่ถอยหลังกลับไปสู่ที่เดิมและทำให้มีปัญหามาก ซึ่งพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการชี้แจงที่ชัดเจนว่าจะช่วยให้ทั้งระบบรวมทั้งผู้ส่งออกจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างไร

นายชูเกียรติ มองว่า แนวทางในการประกันรายได้ให้เกษตรกรถือว่าเดินมาถูกทาง โดยเห็นได้จากการส่งออกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกได้ถึง 6 ล้านตัน เพราะปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก แต่หากนำการรับจำนำกลับมาใช้ใหม่จะเป็นการดันราคาข้าวทั้งระบบให้สูงขึ้น และอาจทำให้เกิดการต่อต้านจากตลาดโลก เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงเกินไป ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกหายไปอย่างมหาศาล ซึ่งการดึงส่วนแบ่งตลาดกลับมาไม่ใช่เรื่องง่าย

ทั้งนี้ แม้พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดจะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ส่งออกที่ไม่สามารถขายข้าวได้ก็ตาม แต่ไม่เข้าใจว่าในเมื่อไม่สามารถขายข้าวได้จะปล่อยสินเชื่อไปเพื่ออะไร ส่วนที่ระบุว่าแม้จะกำหนดราคารับจำนำข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท/ตัน ก็ยังมีผู้ส่งออกรายอื่นสามารถขายข้าวได้นั้น นายชูเกียรติ กล่าวว่า แม้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องขายข้าวในราคาส่งออกสูงถึง 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ถือว่าแพงมาก และต้องไม่ลืมว่าหากข้าวมีราคาสูงเกินไป จะทำให้ผู้ซื้อหันไปบริโภคสินค้าอย่างอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ