(เพิ่มเติม) กฟผ.เผยปัญหาท่อก๊าซปตท.รั่วกระทบค่าเอฟที 2.5 สต./หน่วย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 28, 2011 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า จากกรณีเกิดปัญหาท่อก๊าซฯ ของบมจ.ปตท. (PTT) รั่วนั้นคาดว่าจะส่งผลต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 1 พันล้านบาท หรือหากคิดเป็นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร หรือเอฟที ราว 2.5 สต./หน่วย เนื่องจากต้องใช้หันมาน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้พิจารณาว่าใครจะเป็นผู้รับภาระในส่วนนี้

ทั้งนี้ เหตุการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ PTT รั่วในอ่าวไทย ส่งผลกระทบต่อการจัดส่งก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าให้ กฟผ. ประมาณ 250 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ซึ่งคาดว่าเบื้องต้นจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการซ่อมแซม หากมีความเสียหายไม่มาก แต่หากเป็นกรณีเลวร้าย อาจต้องใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 60 วัน ซึ่ง PTT เตรียมแผนสำรองด้วยการจัดรถขนส่งน้ำมันเตาไปยังโรงไฟฟ้าต่างๆ ของ กฟผ. และเอกชน แต่ในขณะนี้จะยังคงใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าไปก่อน ส่วนน้ำมันดีเซลจะเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะราคาแพงกว่าน้ำมันเตา

นายสุทัศน์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะน่าเป็นห่วงมากหากเกิดขึ้นในปี 57 เพราะในปีดังกล่าวปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศจะลดต่ำลงเหลือ 15% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ทำให้อาจต้องเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ หรืออาจต้องมีการดับไฟฟ้าเป็นบางช่วง เพราะประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องชะลอออกไป ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาหรือปรับแผนในการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและหันมาใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินสะอาดมากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่า

ปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ เป็นของ กฟผ. ประมาณ 16,000 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นของเอกชน โดยในส่วนของ กฟผ.ใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าร้อยละ 69 ถ่านหิน 19% พลังน้ำ 2% และอื่นๆ 9% และ กฟผ. รับก๊าซฯ จาก ปตท. ประมาณ 2,300 ล้านลบ.ฟ./วัน เป็นการรับจากพม่าประมาณ 1,000 ล้านลบ.ฟ./วัน และอ่าวไทย 1,300 ล้านลบ.ฟ./วัน ซึ่งปัจจุบัน ที่ ปตท.ไม่สามารถจัดส่งก๊าซฯ ได้ 250 ล้านลบ.ฟ./วัน ถือว่ายังไม่กระทบต่อภาพรวมการผลิตไฟฟ้าของประเทศมากนัก เพราะวันนี้ยังมีสำรองถึง 25%

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้เตรียมแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยนำกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจากน้ำมันเตามาใช้อย่างเต็มที่ทั้งจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่มีอยู่ในระบบ อาทิ โรงไฟฟ้าบางปะกง ทั้ง 4 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยละ 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ซึ่งแม้จะปลดระวางแล้ว แต่สามารถนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี 2 หน่วย

นอกจากนี้ ยังเพิ่มการผลิตของ 2 โรงไฟฟ้าในลาว คือ โรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำเทิน 2 จาก 750 เมกะวัตต์ เป็น 1,070 เมกะวัตต์ และเขื่อนน้ำงึม 2 กำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ ,เพิ่มการผลิตจากเขื่อนรัชชประภา กำลังผลิต 240 เมกะวัตต์ รวมทั้งเลื่อนแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี ออกไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จากเดิมที่มีแผนจะหยุดซ่อมในช่วงนี้ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าน้ำพอง และพลังงานทดแทน ได้เดินเครื่องอย่างเต็มที่แล้ว

ขณะเดียวกัน กฟผ. จะต้องใช้น้ำมันเตา ที่มีกำมะถัน 0.5% และ 2% เพราะโรงไฟฟ้าแต่ละโรงมีความแตกต่างกัน แต่ ปตท. จะเป็นผู้จัดหาให้ทั้งหมด โดยขณะนี้ ได้เพิ่มความสามารถการขนส่งน้ำมันเตาให้กับโรงไฟฟ้าราชบุรีเป็น 3 ล้านลิตร/วัน ให้กับโรงไฟฟ้าราชบุรี และอีก 30 ล้านลิตร ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยจะเป็นการจัดหาจากโรงกลั่นน้ำมันบางจากและนำเข้าจากต่างประเทศ

ปัจจุบัน กฟผ. มีน้ำมันเตาสำรองใช้ผลิตไฟฟ้าทดแทนได้ประมาณ 7-10 วัน หรือประมาณ 100 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบันที่มีการใช้ 9-10 ล้านลิตร/วัน

นอกจากนี้ ปตท. ยังได้เพิ่มการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้นอีก 160 ล้านลบ.ฟ./วัน เป็น 300 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ถือเป็นเรื่องโชคดีที่คลังรับจ่ายแอลเอ็นจี ได้ก่อสร้างเสร็จไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้

ด้านนายวีระพล จิระประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ บมจ.ปตท.(PTT) เจรจาซื้อน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำ 0.5% จากประเทศสิงคโปร์เข้ามาเสริมระบบผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่สามารถใช้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำ 0.5% เท่านั้น โดยขณะนี้ให้ กฟผ. ประเมินปริมาณน้ำมันเตาที่ต้องใช้จริงว่ามีจำนวนเท่าไหร่ คาดว่า จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ หากพบว่าท่อก๊าซฯที่ได้รับความเสียหายเป็นท่อเส้นเล็กจะใช้ระยะเวลาในการซ่อมแซมประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากเป็นท่อก๊าซฯเส้นใหญ่ได้รับความเสียหายจะใช้ระยะเวลาในการซ่อมแซมประมาณ 1-2 เดือน โดยระหว่างนั้นกระทรวงพลังงานได้ให้ ปตท.เจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ที่เป็นเรือลำที่ 4 ปริมาณก๊าซฯ 60,000-70,000 ตัน จากตลาดจรในประเทศกาตาร์ เข้ามาเสริมระบบผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ชั่วคราว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ