ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับเป้า GDPปี 54 เป็น 4%จาก 3.6%รับผลนโยบายรัฐบาลใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2011 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 54 เพิ่มขึ้นเป็น 4% จากเดิมที่ 3.6% และคาดว่าจีดีพีปี 55 จะเติบโตเป็น 5% รับผลบวกจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่มุ่งยกระดับรายได้ของประชาชน ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยดังกล่าวจะเข้ามาช่วยลดผลกระทบของความเสี่ยงจากภายนอกประเทศ ทั้งเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความกังวลเรื่องภาวะหนี้วินทั้งในสหรัฐฯและยุโรป

อย่างไรก็ตามมองว่ารายได้และการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น จะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังปี 54 คาดว่าจะเติบโต 4.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าเป้าเดิมที่คาดอยู่ที่ 4.3% หลังการฟื้นตัวเร็วกว่าคาดของอุตสาหกรรมต่างๆที่ประสบปัญหาขาดแคลนชึ้นส่วนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง

ประกอบกับความชัดเจนทางการเมืองจะช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทั้งนี้คาดว่านโยบายเพิ่มรายได้ของรัฐบาลชุดใหม่น่าจะเริ่มดำเนินการได้บางส่วนตั้งแต่ไตรมาส 4/54 นี้ เช่น การปรับฐานเงินเดือนข้างราชการระดับปริญญาตรี และการรับจำนำข้าว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 54-55 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 54 อยู่ที่ 2.6% และเพิ่มเป็น 3.4% ในปี 55 ขณะที่อัตราดอกเบี้นนโยบายคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะไปจบที่ 3.75-4% โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนส.ค.นี้น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 3.50% จากปัจจุบันที่ 3.25% และในปี 55 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มเป็น 4.5% ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ทิศทางในระยะสั้นจะมีความชัดเจนมากขึ้นแล้วก็ตาม

ด้านนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/เดือน มองว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะค่อยๆทยอยปรับขึ้น เพราะการขึ้นค่าแรง 300 บาท จะทำให้ภาคธุรกิจต่างๆของไทยโดยเฉลี่ยมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น 4-11% ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงแรงงานในการดำเนินธุรกิจเป็นหลักเช่น ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ กระเบื้อง เซรามิก เป็นต้น และจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศเช่น สูงกว่าเวียดนามกว่า 5 เท่า สูงกว่าอินโดนีเซีย 2.5-4.6 เท่า

สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรต่างๆก็คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลใหม่เช่นกัน โดยคาดว่าราคาข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยฤดูกาลและนโยบายจำนำข้าว ส่วนในปี 55 ต้องจับตาดูผลผลติและนโยบายของประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะอินเดียและเวียดนาม ส่วนราคายางก็คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงไปจนถึงปี 55 หลังอุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่นฟื้นตัว และความต้องการยางจาสกประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯในปีนี้ก็ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค หลังตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ยังคงชะลอตัว ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องมีนโยบายกนะตุ้นเศรษฐกิจรอบ 3 (QE3) ออกมาในที่สุด ซึ่งจะทำให้ต่างชาติลดการถือครองดอลลาร์ฯ และหันมาถือครองสกุลเงินในเอเชียที่มีพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจที่ดีกว่าแทน นอกจากนี้เงินทุนก็ยังมีแนวโน้มไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ