โพลล์ม.หอการค้าฯ ชี้ปรับค่าแรง-เงินเดือน ฉุดGDPแน่ถ้ารัฐไร้มาตรการพยุง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2011 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการต่อนโยบายและผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และวุฒิปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาทว่า หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือกับผู้ประกอบการ จะส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ลดลง 0.2-0.3% และอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 1.1-1.3%

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลมีการชดเชยอุดหนุนเงินเต็มจำนวน หรือ 140,000 ล้านบาท คิดเป็นเท่ากับเม็ดเงินที่ผู้ประกอบการทั่วประเทศจะต้องปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 1-1.3% และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.8-1% เท่านั้น

นอกจากนี้ ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวอาจทำให้ผู้ประกอบการปลดแรงงานในระบบถึง 5 แสนคน จากการจ้างงานรวม 5 ล้านคน รวมทั้งอาจจะปิดกิจการ 1-2 แสนราย จากสถานประกอบการ 2 ล้านราย โดยจะเริ่มเห็นผลกระทบดังกล่าวตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 55 เป็นต้นไป ขณะเดียวกันราคาสินค้าจะปรับตัวขึ้นทันที เพราะผู้ประกอบการจะผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาสินค้า ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทันเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แทนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น

"มาตรการบรรเทาผลกระทบจะมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะมาตรการจ่ายเงินอุดหนุน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 140,000 ล้านบาท โดยอาจจะจัดขึ้นในรูปแบบกองทุนเพื่อโอนเงินให้ผู้ประกอบการทันที โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs" นายธนวรรธน์ ระบุ

พร้อมกล่าวว่า จากผลสำรวจผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรง 97.1% จะมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น 78.4% จะรับขึ้นราคาสินค้า 68.7% จะหาเครื่องจักรดำเนินการแทน 65.8% จะปลดคนงานเพิ่มขึ้น และ 64.6% จะปิดกิจการ

โดยผู้ประกอบการ 94.1% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดตอบว่าจะแบกรับภาระไม่ได้ถ้าไม่มีมาตรการชดเชย ขณะที่การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะไม่มีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจเท่าที่ควร โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะ 53.2% ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล มีเพียง 46.8% ที่จดทะเบียน

สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือนั้น ผู้ประกอบการ 48.6% ต้องการเงินชดเชย ส่วนอีก 28.1% ต้องการให้ลดภาษีนิติบุคคลมากขึ้น ขณะที่ 16.4% ต้องการให้มีการจัดอบรมฝีมือแรงงาน และอีก 6.7% ขอให้ค่อยๆ ดำเนินการ โดยผู้ประกอบการคิดว่าหากจะดำเนินการนั้น 51% เห็นว่าควรปรับขึ้นในจังหวัดนำร่องก่อน ส่วนอีก 44.6% ขอให้ค่อยๆ ปรับขึ้นหลายครั้งจนครบจำนวน และที่เหลือ 4.4% เห็นว่าควรปรับขึ้นทันทีพร้อมกันหมดทั่วประเทศ

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั่วประเทศ 800 ตัวอย่าง ดำเนินการระหว่างวันที่ 16-18 ก.ค.54


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ