พลังงาน เผยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดในมิ.ย.ปรับตัวเพิ่มจากพ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2011 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดในเดือน มิ.ย.54 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.54 โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% จาก 19.7 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 20.7 ล้านลิตร/วัน กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีปริมาณใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 54.4 ล้านลิตร/วัน โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.1% ก๊าซหุงต้ม(LPG) ปรับเพิ่มขึ้น 2% อยู่ที่ 18,200 ตัน/วัน หรือ 545,000 ตัน/เดือน เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติ(NGV) ปรับเพิ่มขึ้น 3% จาก 6.6 ล้านกิโลกรัม/วัน อยู่ที่ 6.8 ล้านกิโลกรัม/วัน โดยมีรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ NGV ทั้งหมด 267,698 คัน

สำหรับการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นทุกชนิด ยกเว้นน้ำมันเบนซิน 95 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเดือน มิ.ย.เป็นช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า แบ่งเป็น น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 รวมอยู่ที่ 8.0 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 9% และแก๊สโซฮอล์รวมอยู่ที่ 12.7 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 3% โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ E85 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 0.024 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 0.026 ล้านลิตร/วัน หรือเพิ่มขึ้น 9% โดยในเดือน มิ.ย.มีสถานีบริการที่จำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E85 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.จาก 10 แห่ง เป็น 21 แห่ง

ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา B3 มีจำนวน 53.0 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนก่อน 0.7% เนื่องจากเป็นช่วงหมดฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางเกษตร ทำให้มีการใช้รถบรรทุกลดลง อย่างไรก็ตามขณะนี้มีสต็อกของน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) เพิ่มขึ้นมาก และเพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินในตลาด กรมธุรกิจพลังงานจึงปรับเพิ่มสัดส่วนการผสม B100 ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจาก 3% มาอยู่ที่ 4% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.54 เป็นต้นไป

สำหรับการใช้ LPG ในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 2% มาอยู่ที่ 18,200 ตัน/วัน หรือ 545,000 ตัน/เดือน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในภาคครัวเรือน 3% อยู่ที่ 7,200 ตัน/วัน หรือ 217,000 ตัน/เดือน ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3% อยู่ที่ 2,200 ตัน/วัน หรือ 67,000 ตัน/เดือน และภาคขนส่ง เพิ่มขึ้น 2% อยู่ที่ 2,600 ตัน/วัน หรือ 77,000 ตัน/เดือน ส่วนการใช้ในภาคปิโตรเคมีลดลง 1% อยู่ที่ 6,100 ตัน/วัน หรือ 184,000 ตัน/เดือน โดยในเดือน มิ.ย.มีการนำเข้า LPG 171,000 ตัน เป็นมูลค่า 4,900 ล้านบาท โดยกองทุนจ่ายชดเชย 3,276 ล้านบาท

ขณะที่การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมทั้งหมด 828,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากเดือนก่อน 12% และมูลค่านำเข้ารวมอยู่ที่ 86,000 ล้านบาท ลดลง 16% แบ่งเป็น การนำเข้าน้ำมันดิบ 761,000 บาร์เรล/วัน มูลค่ารวม 81,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 67,000 บาร์เรล/วัน มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 171,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 16% และมูลค่าส่งออกรวม 19,000 ล้านบาท ลดลง 16% เช่นกัน

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดในช่วง 2 ไตรมาสแรก และครึ่งปีแรกมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน ยกเว้นกลุ่มน้ำมันเบนซินลดลง 0.7% อยู่ที่ 20.3 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การใช้น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ปรับตัวลดลง โดยประชาชนเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นที่ถูกกว่า ขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% อยู่ที่ 54.7 ล้านลิตร/วัน เช่นเดียวกับการใช้ NGV ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 6.5 ล้านกิโลกรัม/วัน และ LPG เพิ่มขึ้น 3% อยู่ที่ 18,000 ตัน/วัน หรือ 546,000 ตัน/เดือน

สำหรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในครึ่งปีแรกเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 53 พบว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2% จาก 20.1 ล้านลิตร/วัน เป็น 20.4 ล้านลิตร/วัน, กลุ่มน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 4% จาก 52.2 ล้านลิตร/วัน เป็น 54.1 ล้านลิตร/วัน, NGV เพิ่มขึ้น 35% จาก 4.7 ล้านกิโลกรัม/วัน เป็น 6.3 ล้านกิโลกรัม/วัน, LPG เพิ่มขึ้น 24% จาก 14,300 ตัน/วัน เป็น 17,800 ตัน/วัน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกภาคการใช้ แบ่งเป็น ภาคปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 55% ตามการขยายตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น 30% เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในครึ่งปีแรกมีรถยนต์ที่สามารถใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นถึง 70,000 คัน ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9% และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5%

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกมีการนำเข้า LPG เฉลี่ย 113,000 ตัน/เดือน มูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท ซึ่งต้องจ่ายชดเชยการนำเข้าเป็นจำนวน 12,984 ล้านบาท แต่เมื่อรวมการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมดปริมาณ 851,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2% ขณะที่มูลค่านำเข้ารวม 506,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากเฉลี่ย 77 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปี 53 มาเป็น 106 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปี 54 ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 159,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 11% ขณะที่มูลค่าส่งออกรวม 99,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงราคาน้ำมันดิบว่า EIA(U.S. Energy Information Administration) ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในไตรมาสที่ 3 จะอยู่ที่ระดับ 98 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากไตรมาสที่ 2 กว่า 4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากสำนักงานพลังงานสากล(IEA) ประกาศจะปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกสู่ตลาด 60 ล้านบาร์เรล และความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ