สศก.เตือนรับมือระบบการผลิตอาหารโลกในอนาคต แนะจัดการ 5 ความท้าทาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2011 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในอนาคตภายใน 40 ปีข้างหน้า ระบบอาหารโลก (global food system) อาจจะต้องเผชิญกับภาวะกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านคน เป็น 9,000 ล้านคน ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก่งแย่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ (ที่ดิน น้ำ และพลังงาน) รวมไปถึงรูปแบบ ค่านิยมและจริยธรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ซึ่งแรงกดดันเหล่านี้จะส่งผลทำให้การผลิตอาหารของโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการออกแบบระบบอาหารใหม่เพื่อให้เป็นระบบที่ยั่งยืน (sustainable) สามารถปรับตัวและบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น ตลอดจนสนองต่อความต้องการอาหารโลก

จากรายงานของ Government Office for Science ของสหราชอาณาจักร เรื่อง “The future of food and farming"ภายใต้โครงการ Foresight project เน้นให้ผู้กำหนดนโยบาย (policy makers) ควรมุ่งไปที่การจัดการกับความท้าทายหลักๆ 5 ประการ คือ ความท้าทายที่ 1 : การปรับอุปสงค์และอุปทานให้มีความสมดุลกันอย่างยั่งยืน โดยหาทางเพิ่มระดับผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นและต้องเป็นอาหารที่มีราคาไม่แพง ผู้บริโภคสามารถซื้อได้

ความท้าทายที่ 2 : การเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของระบบอาหารในอนาคต สำหรับวิธีลดความผันผวนในระบบอาหารตามที่ Foresight เสนอแนะ อาทิ การส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างประเทศ (โดยลดข้อกีดกันทางการค้าและการอุดหนุนลง) รวมไปถึงการปรับปรุงการทำงานของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (commodity market)

ความท้าทายที่ 3 : การยุติความอดอยากหิวโหย โดยภาคเกษตรสามารถเข้ามามีบทบาทในการลดปัญหาความอดอยากยากจนได้ ผ่านความสามารถในการผลิตอาหารของภาคเกษตร นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังเป็นแหล่งสร้างรายได้และนำมาซึ่งสวัสดิการสังคมที่ดีขึ้นให้แก่กลุ่มประชากรยากจนหรือแรงงานที่ถูกมองข้ามความสำคัญไป (เช่น เกษตรกรรายย่อยและแรงงานหญิง)

ความท้าทายที่ 4 : การมุ่งเป็นโลกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ระบบการผลิตอาหารและการทำฟาร์มมีส่วนทำให้เกิดโลกร้อนผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทต่างๆ (ก๊าซคาร์บอน มีเทนและไนตรัสออกไซด์) ภาคเกษตรจึงสมควรเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน ภาคเกษตรก็มีโอกาสเป็นอย่างมากในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (mitigation) เพราะฉะนั้นในการเจรจาระดับโลกเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก จึงสมควรต้องนำเอาภาคเกษตรและระบบการผลิตอาหารเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย

และสุดท้ายกับ ความท้าทายที่ 5 : การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) และบริการระบบนิเวศน์ (ecosystem service) พร้อมๆ กับการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก การผลิตอาหารของโลกจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องไม่ใช้ที่ดินมากนักและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงหรือเป็นระบบ “การผลิตแบบเข้มข้นที่ยั่งยืน" (sustainable intensification) ซึ่งจะไม่ทำลายพื้นฐานตามธรรมชาติของระบบนิเวศน์เกษตร เป็นระบบที่ลดการปล่อยสารต่างๆ สู่สิ่งแวดล้อม (เช่น สารไนเตรท ก๊าซเรือนกระจกหรือมลภาวะอื่นๆ) รวมทั้งยังหลีกเลี่ยงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สศก. ในฐานะที่เป็นหน่วยวางแผนพัฒนาการเกษตรของประเทศ ได้ตระหนักถึงปัญหาความท้าทายดังกล่าวและได้พิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศที่มีสอดคล้องกับข้อมูลดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ