CPF หนุนนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท เข้าทฤษฎี 2 สูงผลักดันเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2011 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวสนับสนุนนโยบายปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและยกระดับราคาสินค้าเกษตรตามทฤษฎี 2 สูง เพราะเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ปรับตัวพัฒนาก้าวหน้าครอบคลุมผลประโยชน์ของคนในชาติทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง และเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของคนภายในประเทศอย่างยั่งยืน

การปรับรายได้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท รัฐบาลควรต้องมีมาตรการรองรับอย่างชัดเจนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SME ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยอาจดำเนินการในระยะเริ่มแรกด้วยการสนับสนุนด้านการเงินในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนใช้มาตรการทางภาษีมาชดเชยเพื่อให้ธุรกิจ SME ดำรงอยู่ได้

ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่เชื่อว่าจะปรับตัวได้ ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและคนงาน ตลอดจนการลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆที่มีผลต่อต้นทุนการผลิต รวมทั้งมาตรการที่รัฐบาลจะให้การส่งเสริมสนับสนุนภาคธุรกิจ อาทิเช่น มาตรการทางภาษีนิติบุคคล ที่จะลดจากอัตราการจัดเก็บ 30% เหลือ 23% ซึ่งจะส่งผลดีในภาพรวมด้วย เพราะปัจจุบันอัตราการจัดเก็บของประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ

สำหรับ CPF มีแรงงานประมาณ 40,000 คน โดยปกติให้ค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดอยู่แล้ว และพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ในฐานะผู้บริหารก็มีความหนักใจอยู่ไม่น้อยที่จะดำเนินการในทันที แต่เมื่อรัฐบาลมีเจตนานี้ ทาง CPF ก็พร้อมและมีความยินดีสนับสนุนเพื่อที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา CPF เรามุ่งเน้นในการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานและคนงาน พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีส่วนช่วยในกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและทำให้สามารถแข่งขันได้เป็นปกติอยู่แล้ว

นายอดิเรก กล่าวว่า ภาวะราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในรอบระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินจากลิตรละไม่เกิน 1.90 บาท เป็นกว่า 40 บาทซึ่งสูงขึ้นกว่า 20 เท่า ราคาทองคำจากบาทละ 400 บาท ปัจจุบัน 22,000 บาท สูงขึ้น 50 กว่าเท่า ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 20 บาท ปัจจุบัน 215 บาท สูงขึ้น 11 เท่า ไข่ไก่จากฟองละ 0.50 บาท ปัจจุบัน 3.50 บาท สูงขึ้น 7 เท่า หมูเป็นจากกิโลละ 7 บาท ปัจจุบัน 75 บาท สูงขึ้น 11 เท่า ไก่เนื้อ จาก 12 บาท เป็น 38 บาท สูงขึ้นเพียง 3 เท่ากว่า

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าไก่เนื้อราคาสูงขึ้นน้อยที่สุดเนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่ได้ถูกควบคุมราคา ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้น ทำให้มีการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจนทำให้ต้นทุนสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ มีผลทำให้ส่งออกได้และภาวะราคาในประเทศไม่สูงจนเกินไปนัก ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ด้วย

ตรงกันข้ามกับไข่ หมู ซึ่งถูกควบคุมเป็นระยะๆตลอดทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงมีผลให้การพัฒนาการผลิตและประสิทธิภาพทางการผลิตน้อยกว่า อีกทั้งสถาบันการเงินก็ไม่ให้การสนับสนุน ส่งผลให้ภาวะราคามีอัตราปรับตัวเฉลี่ยสูงกว่าไก่เนื้อ

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรให้กลไกของตลาดเป็นตัวกำหนดราคาสินค้าเกษตร โดยไม่ควบคุมราคา ซึ่งถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่เป็นผู้ใช้แรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลอยู่แล้ว พร้อมทั้งควรสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อให้เกิดการขยายและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นเพื่อผู้บริโภคจะได้สามารถหาซื้อสินค้าได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก

"สรุป เราทุกคนควรต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่โลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง มิฉะนั้นภาวะโดยรวมจะอยู่ไม่ได้ เพราะถ้าหากเราควบคุมราคาน้ำมันของโลกไม่ได้ ก็มีความจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นจริง" นายอดิเรก กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ