"อนุสรณ์"ชี้เจรจาการค้าไทย-สหรัฐไม่มีข้อสรุปหากไม่ยืดเส้นตายส่งออกครึ่งปีหลังเสี่ยงสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 6, 2025 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า กฎหมายงบประมาณใหม่ One Big Beautiful Bill ของสหรัฐอเมริกาอาจเพิ่มหนี้สาธารณะสหรัฐฯมากถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปี การมีหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลย่อมสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดออลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอีก ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันดอลลาร์อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยจึงต้องเตรียมรับมือความท้าทายดังกล่าว แม้นว่า ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์ก็ตาม

งบประมาณใหม่นี้จะเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯอีก 5 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อลดหย่อนภาษีให้กับภาคธุรกิจและเพิ่มงบกลาโหม แม้นจะมีปรับลดค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสุขภาพ มีการตัดงบ Medicaid ครั้งใหญ่ที่สุด รวมทั้งงบประมาณทางด้านการศึกษา แต่งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น ต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม อย่างไรก็ตาม งบประมาณใหม่ของสหรัฐฯนี้อาจส่งผลบวกระยะสั้นต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน การเงิน การบริโภค แต่จะเพิ่มความเสี่ยงตลาดการเงินโลกระยะยาว รวมทั้ง ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของสหรัฐฯต่อไป

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลทรัมป์ต้องการนำรายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าโดยเฉพาะภาษีตอบโต้ทางการค้ามาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หากการเจรจาภาษีตอบโต้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯยังไม่มีข้อสรุปตามกรอบเวลาเส้นตายและสหรัฐไม่ยืดเส้นตาย อุตสาหกรรมส่งออกครึ่งปีหลังเสี่ยงสูงมาก คาดการว่างงานเพิ่มสูงในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออก หากมีข้อสรุปและไทยสามารถปรับลดภาษีได้ต่ำกว่า 20% หรือได้รับการยืดเส้นตาย ภาคส่งออกไทยจะยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง หากอัตราภาษีตอบโต้ถูกเรียกเก็บในอัตราสูงกว่า 20% ภาคส่งออกจะได้รับผลกระทบและชะลอตัวโดยเฉพาะในสินค้าส่งออกที่ไทยต้องแข่งขันกับเวียดนาม

ข้อเสนอในการเจรจาทางการค้าของไทยนั้น มีตั้งแต่ 1. เพิ่มช่องทางเปิดรับสินค้าสหรัฐฯ ไทยเสนอยอม ลดอัตราภาษีไทย บางรายการเพื่อเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มีแผนขยายโควต้าการนำเข้าในสินค้าหลายประเภท เพื่อสร้างสมดุลดุลการค้า 2. ป้องกันการลักลอบส่งออกผ่านประเทศที่สาม (transshipment) ไทยให้คำมั่นว่าจะ ปราบปรามการลักลอบ re-export โดยเฉพาะผ่านจีนหรือเอเชียอื่น ๆ มีการเสนอมาตรการตรวจสอบและเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการส่งออก 3. ช่วยส่งเสริมนโยบายสร้างงานในสหรัฐฯ เสนอให้ไทย ลงทุนในสหรัฐฯ ผ่านโครงการที่สร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ รูปแบบที่เสนอรวมถึงการสร้างโรงงานหรือโรงแรมในรัฐที่มีคนว่างงานสูง 4. ลดภาระภาษีไทยเพื่อแลกกับภาษี 10% ไทยยืนยันจะยอมให้ลดภาษีให้มากที่สุดเพื่อขอแลกเป็นอัตรา reciprocal tariff 10% เท่านั้น หากเปรียบเทียบข้อเสนอของไทยกับเวียดนามแล้ว เวียดนามให้ข้อเสนอที่สหรัฐอเมริกาพึงพอใจมากกว่าโดยเฉพาะการเปิดเสรีให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯโดยไม่มีกำแพงภาษี

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์ถึงการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่ได้สามารถบรรลุข้อตกลงได้และได้เงื่อนไขค่อนข้างดี เพราะ 1. มีข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ อยู่แล้วบางส่วนสหรัฐฯ และ UK เคยลงนามใน ข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน (Atlantic Charter) ตั้งแต่ปี 2021 แม้จะไม่มี FTA เต็มรูปแบบ แต่มี "sectoral deal" หลายฉบับ ซึ่งช่วยให้เจรจา reciprocal tariffs ได้รวดเร็ว 2. เปิดตลาดด้านยานยนต์และอากาศยานให้สหรัฐฯ 3. UK ตกลงเปิดตลาดให้กับ รถยนต์ไฟฟ้าและอะไหล่จากสหรัฐฯขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ผ่อนปรนภาษีนำเข้า ชิ้นส่วนอากาศยานและเครื่องบินจากอังกฤษ นอกจากนี้มีรายงานจาก U.S.-UK Reach Historic Trade Deal ระบุว่า "ข้อแลกเปลี่ยนแบบสองทางนี้คือหัวใจของข้อตกลง" 4. ความร่วมมือทางทหารและการข่าว 5. UK เป็นพันธมิตรหลักในกลุ่ม Five Eyes และมีบทบาทสำคัญใน NATO สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์นี้ และไม่ต้องการสร้างแรงเสียดทานทางการค้า 6. มีดุลการค้าสมดุลกับสหรัฐฯ และ UK มี ดุลการค้าค่อนข้างสมดุลกับสหรัฐฯ (นำเข้าและส่งออกใกล้เคียงกัน) ไม่เหมือนประเทศที่โดนตั้งเป้า (เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย) ที่มีดุลการค้าเกินดุลสูงมาก 7. ท่าทีเชิงบวกและการเร่งเจรจาเชิงรุก 8. UK ส่งตัวแทนระดับสูงเข้าร่วมเจรจาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเมษายน มีท่าที "ประนีประนอม" และรับข้อเสนอจากสหรัฐฯ หลายจุด เช่น การกำหนดกฎระเบียบเทคโนโลยีร่วมกัน ใช้แผนเจรจาแบบ sectoral (ไม่ใช่ FTA ทั้งระบบ) เน้นเปิดตลาดเฉพาะกลุ่มUK ยอมลดภาษี digital services tax เพื่อตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มาตรการคุมชิป AI ของสหรัฐอเมริกาในการส่งออกมาไทยและมาเลเซียเพื่อสกัดการลักลอบเข้าจีนสะท้อนการแข่งขันรุนแรงทางเทคโนโลยีเอไอระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่อาจพัฒนาไปสู่การเป็นสงครามทางการค้าอีกรูปแบบหนึ่ง การกีดกันเพื่อให้คู่แข่งไม่สามารถเข้าถึง ความรู้ทางเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้ง การควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีเอไอ ภายใต้ นโยบาย AI Diffusion Rule มาตรการการควบคุมชิป AI ล่าสุดส่งผลกระทบอุตสาหกรมไฮเทคไทยและมาเลเซีย ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ยังจะส่งผลต่อยุทธศาสตร์ในการสร้างอุตสาหกรรม Data Center ในประเทศไทยอีกด้วย อาเซียนนั้นเป็นภูมิภาคที่บริษัทชั้นนำทางเทคโนโลยีได้เข้ามาลงทุน Data Center ค่อนข้างมาก อย่างเช่น มีโครงการขนาดใหญ่ของ Oracle ลงทุน Data Center ในมาเลเซีย เวียดนามเองก็มีโครงการลงทุนจำนวนมากจากบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย การควบคุมการส่งออกชิป AI อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้เพราะไทยและมาเลเซียเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ