รัฐหวังนำผู้ประกอบการไทยก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 100% แต่คงต้องใช้เวลา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 26, 2011 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ มีเป้าหมายที่จะยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมของไทยให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว(กรีนอินดัสตรี้) ให้ได้ครบ 100% จากปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 900 ราย แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีอยู่กว่า 2.9 ล้านราย

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมถือเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานถึง 38% ซึ่งสูงสุดในประเทศ หากสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว นอกจากจะช่วยลดภาวะการปล่อยเรือนกระจก ยังช่วยลดความขัดแย้งระหว่างโรงงานและชุมชน ทำให้โรงงานได้รับการยอมรับและเข้าใจจากชุมชนมากขึ้น

ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบประมาณ 121 แห่ง ใน 7 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 55 ล้านบาท โดยจังหวัดนครสวรรค์มีโรงงานได้รับผลกระทบมากสุด 50 แห่ง ซึ่งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความช่วยเหลือโดยเปิดคลีนิกให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ และให้สินเชื่อเพื่อการซ่อมแซมความเสียหาย โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงค์) ได้อนุมัติเงินกู้วงเงิน 2 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 6% ต่อปี เป็นเวลา 6 ปี โดยจะปลอดดอกเบี้ยใน 2 ปีแรก ซึ่งจะให้กู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมได้ แต่เบื้องต้นทราบว่ามีโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของบริษัท อินโดราม่า ในจังหวัดลพบุรีได้รับความเสียหาย และต้องปิดกิจการชั่วคราว คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการซ่อมแซมเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งยังมีพนักงานที่ไม่สามารถมาทำงานได้ เพราะบ้านถูกน้ำท่วม ซึ่งในช่วงนี้ภาคอุตสาหกรรมคงต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน เพราะบางรายมีการทำประกันภัยความเสียหายไว้ และต้องรอประเมินตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจนก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะภาวะน้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายจุด จึงอยากให้รัฐเร่งชดเชยความเสียหายให้กับคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพืชผลทางการเกษตร จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ยืนยันจะไม่กระทบต่อเป้าหมายจีดีพีในปีนี้ เพราะสินค้าเกษตรคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเพียง 10% เท่านั้น

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงต่อภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป แต่เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศมากนัก เพราะมีสัดส่วนการส่งออกเพียง 10% อีกทั้งยังมีตลาดจีนและอาเซียนเข้ามาชดเชยได้ จึงมั่นใจว่าการส่งออกปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และปีหน้าก็ยังจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตขึ้น คาดว่าจะมี ยอดผลิตปีนี้ที่ 1.8 ล้านคัน และจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคันในปีหน้า อย่างไรก็ตาม มองว่า แม้ยุโรปจะมีปัญหาเศรษฐกิจ แต่ยังคงมียอดคำสั่งซื้อสินค้าจากไทยไม่ได้ลดลง เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไป เป็นสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ อาทิ อาหาร ไฟฟ้า และสิ่งทอ

ขณะที่นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ความต้องการปูนซิเมนต์ในภาพรวมในปีหน้า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ 5% เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล ทั้งโครงการบ้านหลังแรก โครงการรถไฟฟ้า และการพัฒนาระบบชลประทาน รวมถึงปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ความต้องการใช้ปูนซิเมนต์หลังจากนี้จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ปูนซิเมนต์ไทยได้เตรียมสินค้าไว้รองรับกับความต้องการที่สูงขึ้นแล้ว และจะไม่มีปัญหาขาดแคลนอย่างแน่นอน ในส่วนของราคาปูนซิเมนต์และวัสดุก่อสร้าง จะยังไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยราคาในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 เริ่มปรับลดลงซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล

นายกานต์ กล่าวด้วยว่า วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพิงการส่งออกในสัดส่วนสูงถึง 70% แต่ในส่วนของปูนซิเมนต์ไทยได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เพราะได้ปรับลดสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวเหลือเพียง 5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากเดิมอยู่ที่ 30% และเน้นทำตลาดในอาเซียน เอเชียใต้ และออสเตรเลียมากขึ้น ทั้งนี้ มองว่านโยบายกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศของรัฐบาล น่าจะช่วยทดแทนตลาดส่งออกที่กำลังมีปัญหาได้ แต่รัฐบาลไม่ควรใช้มาตรการดังกล่าวมากจนเกินไป

ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อมตะคอร์ปอเรชั่น(AMATA) ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรป จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะกระทบทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน โดยเฉพาะตลาดการส่งออกที่ยังคงพึ่งพิงตลาดดังกล่าวมากกว่าครึ่งของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจของทั้งสองตลาดนี้มีปัญหาด้านกำลังซื้อก็จะกระทบต่อไทยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลควรควบคุมต้นทุนต่างๆ ของประเทศที่จะเพิ่มขึ้น จากนโยบายรัฐบาล ทั้งนโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวัน การปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี ราคาพลังงาน และต้นทุนด้านดอกเบี้ย เพราะหากประเทศมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในภาวะที่ตลาดยังไม่ดีนัก จะยิ่งสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจไทย รัฐบาลจึงควรหาวิธีอื่นมาช่วยชดเชยภาระต้นทุนดังกล่าว เช่น การปล่อยสินเชื่อ ลดดอกเบี้ย ลดภาษี

ทั้งนี้ เชื่อว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ การประชุมของกลุ่มจี 20 และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) จะมีมาตรการที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยที่ 6-7% ประกอบกับญี่ปุ่นและจีนมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง อาจทำให้การลงทุนในภาคการผลิตขยายตัวมายังตลาดในประเทศไทยและเอเชียมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ