สนพ.เร่งเดินหน้าทำแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติครอบคลุมทุกด้านสรุปภายใน 1 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 4, 2011 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสิทธิโชติ วันทวิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยกระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานที่มีนายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงฯ เป็นประธาน คาดว่าจะศึกษาเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี

แผนงานดังกล่าวจะครอบคลุมพลังงานทุกด้าน และจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 11 ระยะ 5 ปี โดยในแผนฉบับ 11 นี้ จะนำเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทน แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี 20 ปี) รวมไปถึงแผนด้านน้ำมันรวมอยู่ด้วย

นายสิทธิโชติ ยังกล่าวถึงมาตรการเพิ่มความปลอดภัยระบบก๊าซชีวภาพในโรงงานอุตสาหกรรมว่า สนพ.ได้รับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 3,982 ล้านบาท ในช่วงปี 2551-2555 เพื่อนำมาสนับสนุนให้โรงงานเข้าร่วมโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย โดยทางกองทุนฯ จะสนับสนุนร้อยละ 20-50 ของวงเงินลงทุน

ตามเป้าหมายจะมีการส่งเสริมให้ผลิตก๊าซชีวภาพ 630 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จำนวน 338 โรงงาน ล่าสุดมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 100 โรงงาน คิดเป็นปริมาณก๊าซ 534 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นมูลค่ารวม 2,861 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแยกเป็น การผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนน้ำมันเตา 75 ล้านลิตรต่อปี ทดแทนถ่านหิน 35,625 ตันต่อปี ทดแทนแอลพีจี 500 ตันต่อปี ทดแทนไฟฟ้า 500 ล้านหน่วยต่อปี

สำหรับปัญหาการใชก๊าซชีวภาพในโรงงานขณะนี้คือ เรื่องอุบัติเหตุ โดยภาพรวมของประเทศมีโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพถึง 200 แห่ง มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งจากระบบการผลิต การลำเลียงก๊าซ เช่น เหตุการณ์ที่เกิดกับโรงงานก๊าซชีวภาพที่ชัยภูมิ ทำให้มีผู้เสียชีวิต เกิดจากเหตุลมพายุหมุน ซึ่งจากการตรวจสอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า เกิดจากความบกพร่องในการออกแบบ ติดตั้งระบบผลิตและเก็บก๊าซ และคุณภาพก๊าซ และความล้มเหลวของอุปกรณ์ความปลอดภัย การขาดความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ กรมโรงงานอยู่ระหว่างการศึกษาจะออกกฎระเบียบควบคุม เช่น จำกัดปริมาณก๊าซชีวภาพต่อพื้นที่จัดเก็บ

ด้านนายพฤกษ์ อักกะรังสี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลที่มีการปรับโครงสรางราคาพลังงาน โดยเฉพาะการทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดการประหยัด ลดการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ

แต่จากที่กระทรวงพลังงานมีการแบ่งราคาแอลพีจีให้แตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือน และขนส่ง ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องออกมาตรการคุมเข้มไม่ให้เกิดการถ่ายเทก๊าซครัวเรือนไปยังภาคขนส่ง เช่น อาจเติมสารเติมแต่งให้มีกลิ่นแตกต่างกัน เป็นต้น

ขณะที่ก๊าซเอ็นจีวีเป็นทางเลือกที่สำคัญที่จะนำมาใช้ในภาคขนส่งทดแทนก๊าซแอลพีจี แต่มีปัญหาด้านการขนส่งระยะไกล ซึ่งจะมีต้นทุนสูง โดยที่ผ่านมาทางสถาบันได้ร่วมกับ สนพ.ศึกษาการผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับยานยนต์(ซีบีจี) พบว่า สามารถทดแทนเอ็นจีวีได้ แต่รัฐบาลคงจะต้องนำเงินมาอุดหนุนบางส่วน เพราะหากผลิตซีบีจีจากน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรม จะมีต้นทุนเทียบเท่าก๊าซเอ็นจีวีที่ประมาณ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากผลิตมาจากพืช เช่น หญ้าเลี้ยงช้าง จะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ