ฝ่ายวิจัย BAY คาดน้ำท่วมกด GDP ปี 54 เหลือ 2.7-3.5%จากเดิมคาด 3.5-4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 17, 2011 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า วิกฤตน้ำท่วมที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้พื้นที่ในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นคาดว่าจะมากกว่า 1 แสนล้านบาท นับรวมผลผลิตการเกษตรและอุตสาหกรรม โรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น แต่ยังไม่รวมความเสียหายของนิคมฯ นวนคร

เมื่อผนวกกับความเสียหายของทรัพย์สินและความสะเทือนใจจากภาพข่าวน้ำท่วมรายวัน จึงส่งผลทางลบต่อการจับจ่ายใช้สอยโดยรวมแม้ว่าการบริโภคสินค้าจำเป็นหลายรายการจะเพิ่มขึ้นในช่วงน้ำท่วม รวมถึงมีการกักตุนสินค้าบางรายการก็ตาม จากสภาวการณ์ดังกล่าวจึงคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(GDP)ไตรมาส 4/54 จะลดลงจากที่คาดไว้เดิมประมาณ 2-3% เหลือเพียง 2.0-3.5% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ทั้งปี 2554 ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.7-1.2% เหลือ 2.7-3.5% เดิมคาด 3.5-4.5%

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP ที่หายไปเป็นการพิจารณาเฉพาะความเสียหายด้านผลผลิตซึ่งไม่นับรวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน เช่น สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกล โครงข่ายสาธารณูปโภค ดังนั้น ความเสียหายโดยรวมที่เกิดขึ้นจริงจะมีมูลค่าสูงมากกว่าที่หลายฝ่ายประเมินผ่านตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ พื้นที่ภาคเกษตรเสียหายครอบคลุม 67 จังหวัด ล่าสุดมีพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรง 36 จังหวัด และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่น้ำทะลักเข้าท่วมโซนเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ ความเสียหายจึงร้ายแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ

ภาวะน้ำท่วมหนักในไทยครั้งนี้ต่างจากหลายครั้งก่อนอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่จะกระทบผลผลิตภาคเกษตร การเดินทางและการขนส่งอย่างที่เคยประสบ แต่ยังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่จากการเกิด Supply-chain disruption ในภาคการผลิตซึ่งจะมีผลกระเทือนภาคการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการจ้างงาน ส่งผลให้รายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจถูกกระทบตามไปด้วย

สำหรับภาคเกษตร ผลผลิตเสียหายรุนแรง ล่าสุด (14 ต.ค.54) กระทรวงเกษตรฯ ประเมินความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวเสียหายมากเป็นประวัติการณ์ถึง 8.41 ล้านไร่ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวเสียหายไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน หรือกว่า 10% ของผลผลิตข้าวทั้งปี (ยังไม่รวมความเสียหายต่อสต็อกข้าวเปลือกที่อยู่ในโกดัง/ยุ้งฉาง) ส่วนภาคเกษตรอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหาย อาทิ อ้อยโรงงาน ผัก ผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลาน้ำจืด ไก่ และหมู เป็นต้น

ภาคอุตสาหกรรม.โรงงานจมน้ำ-ขาดวัตถุดิบ-เกิดปัญหา Supply-chain disruption โดยอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีกระทบหนักสุด โดยเฉพาะโรงงานหลายแห่งในเขตนิคมอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกน้ำท่วมและเครื่องจักร/โรงงานเสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ และเป็นกิจการใน Supply Chain ที่น่ากังวลอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ที่กว่า 80% กระจุกตัวอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี กรุงเทพฯ(ลาดกระบัง)) ซึ่งเป็นไปได้ที่การผลิตของอุตสาหกรรมนี้จะสะดุดไปจนถึงไตรมาส 2 ของปีหน้า และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องถึงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ในหลายประเทศ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะ hard disk drive ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับสองของโลก มีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 20%

อีกอุตสาหกรรมสำคัญที่ได้รับความเสียหาย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์หลายค่ายในไทยเกิดภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต (Supply-chain disruption) และกิจกรรมการผลิตยานยนต์จะสะดุดลงอีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตรถยนต์ประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนนานกว่า 3 เดือนจากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น และเพิ่งจะสามารถกลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่ในไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยังต้องจับตาอีกหลายนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆ ที่ยังไม่พ้นความเสี่ยงต่อความเสียหายจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้

สำหรับปี 2555 คาดว่า GDP จะขยับสูง ส่วนหนึ่งโตจากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า จะได้เห็นการบูรณะซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างต่างๆ มากมายที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วม รวมถึงอาจเห็นการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันภาวะน้ำท่วม ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ GDP ทั้งปี 2555 เติบโตเพิ่มขึ้นในอัตรา 4.0-5.0%

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากความต้องการที่จะขยายการลงทุนตามภาวะปกติ จึงไม่น่าจะเสริมบรรยากาศการใช้จ่ายโดยรวมได้มากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ