In Focusวิกฤต"น้ำท่วม"ครึ่งศตวรรษ ภาพสะท้อน"น้ำใจไทย"ที่ไม่เคยเหือดหาย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 19, 2011 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ณ ขณะนี้ ไม่มีข่าวไหนอีกแล้วที่อยู่ในความสนใจของชาวไทยมากเท่ากับวิกฤตการณ์น้ำท่วม จากช่วงแรกที่ติดตามข่าวด้วยความเห็นอกเห็นใจพี่น้องผู้ประสบภัย จนระยะหลังมานี้หลายคน โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ รับฟังข่าวสารด้วยความลุ้นระทึก ใจตุ๊มๆต่อมๆ ด้วยความเป็นห่วงตัวเองและคนใกล้ชิด กลัวว่าน้ำจะมาถึงบ้านของตน

ฝนที่มาเร็วและตกหนักอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อนอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ลานีญา จนทำให้ระดับน้ำสูงกว่าปกติ การบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ...ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของธรรมชาติ ความผิดพลาดของมนุษย์ หรือเหตุผลกลใดก็สุดแล้วแต่ ผลที่เกิดขึ้นก็คือความสูญเสีย ทั้งชีวิต (โดยล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 317 ราย) และทรัพย์สินที่เสียหายหลายแสน (ล้าน!)

วิถีความเป็นอยู่ของหลายชีวิตในประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในชั่วระยะเวลาเพียงสามเดือน จากที่เคยเดิน ขี่จักรยาน ขับรถ ก็ต้องหันมาใช้เรือเป็นพาหนะแทน จากที่เคยออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ ก็ไม่สามารถทำได้เพราะที่ทำงานถูกน้ำท่วม

หนึ่งในนั้นรวมถึงชาวต่างชาติอย่าง นิโคลา เกอร์นีย์ ครูสอนภาษาอังกฤษในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการผลกระทบอย่างหนักจากอุทกภัยครั้งนี้ โดยเธอให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า “สถานการณ์ในนครสวรรค์เลวร้ายมาก"

“เมืองอยู่ใต้น้ำที่ลึกหลายเมตร และชาวบ้านพูดกันว่าระดับน้ำจะไม่ลดลงไปอีกหนึ่งเดือน โรงเรียน วิทยาลัย สถานรับเลี้ยงเด็ก วัด หรือสนามกีฬาที่น้ำยังท่วมไม่ถึง กำลังถูกใช้เป็นสถานที่พักพิงชั่วคราว ขณะที่เรากำลังรอให้น้ำลดลง"

นอกจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ธุรกิจต่างๆก็เสียหายย่อยยับ ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุทกภัยครั้งนี้กลายเป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี

* เศรษฐกิจจมดิ่งสู่ใต้บาดาล

สถานการณ์น้ำท่วมในไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายเดือนก.ค. ก่อนที่จะทวีความรุนแรงขยายวงกว้างสู่หลายจังหวัด ซึ่งจนถึงขณะนี้ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศแล้ว 26 จังหวัด คิดเป็นสัดส่วนถึงสองในสาม โดย 10 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุดได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี และนนทบุรี จากการเปิดเผยของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)

โดยจุดที่ทำให้อุทกภัยครั้งนี้เข้าสู่วิกฤตอย่างแท้จริง ก็คือมวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะนอกจากอดีตราชธานีของไทยแห่งนี้จะเป็นที่ประดิษฐานของโบราณสถานและโบราณวัตถุคู่บ้านคู่เมืองของไทยแล้ว จ.อยุธยายังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง ซึ่งเป็นบ้านของโรงงาน 620 แห่ง และเป็นที่ทำมาหากินของแรงงานเกือบ 200,000 คน

สำหรับนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งในจ.อยุธยา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร สวนอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และเขตประกอบการอุตสาหกรรม แฟคตอรี่แลนด์ ซึ่งน้ำได้ไหลทะลักเข้าสู่เขตอุตสาหกรรมเหล่านี้จนทำให้โรงงานที่ตั้งอยู่ภายในนิคมฯไม่สามารถเปิดดำเนินการต่อไปได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าความหวังของเศรษฐกิจไทยก็ไหลตามไปกับกระแสน้ำด้วย

นอกจากเขตอุตสาหกรรมในอยุธยาแล้ว นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ในจังหวัดปทุมธานี ได้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 6 และแห่งล่าสุดที่ถูกน้ำไหลเข้าท่วมเต็มพื้นที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อโรงงานอีก 227 แห่ง และแรงงานกว่า 175,000 คน ล่าสุด กำลังมีความหวั่นเกรงกันว่าสวนอุตสาหกรรมบางกระดีในจ.ปทุมธานี อาจเป็นเหยื่อรายต่อไป

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ประเมินเบื้องต้นว่า สถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงนี้จะมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 1-1.7% จากที่ประเมินไว้ 0.6-0.9% ในสัปดาห์ก่อน ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของจีดีพีในปีนี้ลงมาเหลือ 2.1% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.8% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจจะมีผลกระทบสูงกว่านี้ได้หากสถานการณ์ยืดเยื้อ

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์กล่าวว่า วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายเกินคาด โดยเบื้องต้นประเมินอยู่ที่ 1.82 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

นายโทรุ นิชิฮามะ จากสถาบันวิจัยไดอิจิ ไลฟ์ ในกรุงโตเกียว แสดงความเห็นว่า กำลังวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ด้านจูเลีย โกห์ นักเศรษฐศาสตร์จากซีไอเอ็มบี อินเวสท์เมนท์ แบงก์ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเจอโชค(ร้าย)สองชั้น เพราะนอกจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวแล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากน้ำท่วมอีก

* เคราะห์ซ้ำกรรมซัดภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

บริษัทหลายแห่งของญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้ผลิตยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้พึ่งพาอาศัยโรงงานในต่างประเทศเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญ ซึ่งไทยก็เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เพื่อทดแทนกำลังการผลิตในประเทศที่สูญเสียไปหลังเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงเพื่อชดเชยผลกระทบต่อกำไรอันเนื่องมาจากเงินเยนที่แข็งค่า

โดยในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเพิ่งฟื้นตัวจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นได้เพียงไม่นาน แต่แล้วผู้ป่วยที่อาการกำลังดีวันดีคืน ก็กลับต้องมามีอาการกำเริบ และทรุดลงอีกครั้งจากพิษอุทกภัยในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอีซูซุ และ ซูซูกิ ที่ต้องตัดสินใจระงับการผลิตรถกระบะและรถจักรยานยนต์ตามลำดับ ขณะที่บริษัท ฮิตาชิ ได้ระงับการผลิตที่โรงงานผลิตส่วนประกอบของตู้เย็น ส่วนนิคอนได้ระงับการผลิตที่โรงงานผลิตกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว หรือกล้องดีเอสแอลอาร์ ซึ่งตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ

"ปี 2554 เป็นปีแห่งภัยธรรมชาติที่เลวร้ายสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น แผ่นดินไหวและสึนามิทำให้ต้องปิดโรงงานไปร่วมสองเดือน และขณะนี้ภาวะน้ำท่วมก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการผลิตในไทยอีก" ฮานส์ กรีเมล บรรณาธิการฝ่ายเอเชียของออโตโมบิล นิวส์ แถลงที่กรุงโตเกียว

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เจโทร" เผยน้ำท่วมในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อบริษัทญี่ปุ่นกว่า 300 แห่ง ซึ่งบางแห่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่จะกลับมาเริ่มการผลิตได้อีกครั้ง

นายเซตสึโอะ อิอูจิ ประธานเจโทร ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่นที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้โรงงานประกอบรถยนต์ของญี่ปุ่นในไทยส่วนใหญ่อยู่ที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งอยู่ไกลจากพื้นที่น้ำท่วม แต่หลายแห่งต้องระงับการผลิตแล้วเพราะขาดแคลนชิ้นส่วน ยกตัวอย่างเช่น โตโยต้า ที่ประกาศขยายระยะเวลาระงับการผลิตไปจนถึงวันที่ 22 ต.ค. แม้ว่าโรงงาน 3 แห่งของบริษัทไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

“ผู้ผลิตยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะพวกเขามีซัพพลายเชน และพวกเขาต้องการชิ้นส่วน ตัวอย่างเช่น รถยนต์หนึ่งคันต้องใช้ชิ้นส่วนมากกว่า 20,000 — 30,000 ชิ้น เพื่อผลิตรถเพียงคันเดียว" นายอิอูจิกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกที่สำคัญสำหรับค่ายรถหลายราย ซึ่งรวมถึงโตโยต้า ฮอนด้า อีซูซุ จีเอ็ม และฟอร์ด โดยข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ในสังกัดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น ระบุว่า ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถรายใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคิดเป็นสัดส่วนราว 52% ของตลาดอาเซียน

ผู้ผลิตรถส่วนใหญ่ที่มีโรงงานประกอบรถอยู่ในประเทศไทยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในไทยเป็นหลัก โดยรถกระบะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในไทยมากกว่า 90% และรถเก๋งประมาณ 60% ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าบรรดาค่ายรถเหล่านี้จะได้รับผลกระทบมากขนาดไหน

* แสงสว่างเหนือผิวน้ำ

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความมืดมิดใต้ผิวน้ำ ก็ยังมีแสงแห่งความหวังส่องลอดลงมาบ้าง เมื่อบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำอย่าง มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ต่างประสานเสียงกันว่า อุทกภัยไม่มีผลกระทบโดยตรงต่ออันดับเครดิตไทย

โดยมูดีส์ประมาณการความเสียหายจากอุทกภัยในขณะนี้เทียบเท่ากับเสี้ยวหนึ่งของ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ พร้อมกับเสริมว่า "สิ่งที่เราพิจารณาในแง่ของนโยบายคือ สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อรับมือกับอุทกภัยดังกล่าว"

ด้านเอสแอนด์พีระบุว่า ความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจมหภาคและการคลังระยะยาว มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของประเทศมากกว่า

ขณะที่ เจโทรก็เผยว่า แม้นักลงทุนญี่ปุ่นกำลังพยายามรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยบางบริษัทได้เริ่มแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มการผลิตในประเทศอื่นเพื่อชดเชยการผลิตในไทยที่หยุดชะงักเพราะน้ำท่วม แต่ถึงกระนั้นบริษัทญี่ปุ่นก็ยังไม่คิดย้ายโรงงานไปที่อื่น

ขณะเดียวกัน บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล ผู้ผลิตฮาร์ดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลกจากสหรัฐ ระบุว่า หากรัฐบาลสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเร่งด่วน บริษัทก็ยังยืนยันจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป เพราะขณะนี้โรงงานในไทยทั้งที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ของบริษัท เนื่องจากลงทุนที่นี่มานานแล้ว

ด้านบริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ยังมั่นใจการลงทุนในไทย โดยนายฮิโรชิ โคบายาชิ ประธานบริษัทกล่าวว่า ความสำเร็จของฮอนด้าในเอเชียมีจุดเริ่มต้นมาจากการดำเนินงานในประเทศไทย นับเป็นการสร้างความอุ่นใจว่า บริษัทจะไม่ถอนการลงทุนออกจากประเทศ แม้เผชิญเหตุน้ำท่วมจนต้องปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในจ.พระนครศรีอยุธยามาตั้งแต่ต้นวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม

* น้ำหนึ่งใจเดียว

โบราณกล่าวว่า คนเราจะเห็นใจกันก็ในยามทุกข์ยาก ซึ่งวิกฤตการณ์ครั้งนี้ก็พิสูจน์ว่าคำกล่าวนี้ยังไม่เลือนหายไปจากสังคมไทย

สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานข่าวสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมในความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทย โดยพอลล่า แฮนค็อก จากซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ความพยายามในการบรรเทาทุกข์ส่วนใหญ่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันเองของคนในชาติ โดยคนไทยจากทั่วประเทศพากันบริจาคอาหาร น้ำดื่ม และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยในหลายพื้นที่ ขณะที่ใครที่มีเรือ ก็ใช้เรือมาช่วยขนของให้เพื่อนบ้าน ส่วนคนที่ไม่มีเรือ ก็ใช้ยางรถยนต์ หรือแม้แต่แผ่นโฟม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นทีมเวิร์คระหว่างชุมชน

ด้านหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิง เฮอรัลด์ ของออสเตรเลีย ได้รายงานว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมานานหลายปี อุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษก็ได้จุดประกายความหวังว่าอาจจะเกิดความปรองดองขึ้นภายในประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า “แลนด์ ออฟ สไมล์" หรือ “สยามเมืองยิ้ม"

รายงานระบุว่า ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทางเหนือของกรุงเทพฯ ไม่มีคนเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง มีแต่คนที่ช่วยกันเรียงถุงทรายเป็นคันกั้นน้ำ หรือไม่ก็ช่วยพาผู้ประสบภัยอพยพขึ้นที่สูง ไม่มีศัตรูอีกต่อไป นอกจากพวกหัวขโมยที่เที่ยวตระเวนลักทรัพย์ตามอาคารบ้านเรือนในพื้นที่ภัยพิบัติ

นสพ. ซิดนีย์ มอร์นิงฯ ยังรายงานต่อไปว่า ในขณะที่น้ำกำลังจะไหลเข้าท่วมกรุงเทพฯนั้น บรรดาผู้นำทางการเมืองได้สร้างความประหลาดใจด้วยการวางความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง โดยหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับได้ตีพิมพ์ภาพนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ที่กำลังดูแผนที่ด้วยกันในระหว่างไปตรวจเยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

* ธารน้ำใจหลั่งไหล

นอกจากน้ำใจเปี่ยมล้นของคนในชาติแล้ว ประเทศไทยยังได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศอีกด้วย

จีน นับเป็นประเทศแรกที่เสนอความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยแก่รัฐบาลไทย โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ส่งสารแสดงความเสียใจแก่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่ ฯพณฯ ก่วน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้เดินทางมาพบนางสาวยิ่งลักษณ์ เพื่อมอบเงินสดจากรัฐบาลจีนสำหรับบรรเทาปัญหาอุทกภัยเป็นจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านบาท)

พร้อมกับเงินบริจาคจำนวนดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตจีนระบุในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า จีนยังได้มอบสิ่งของมูลค่า 10 ล้านหยวน (50 ล้านบาท) ให้แก่ไทยด้วย ซึ่งสิ่งของช่วยเหลือดังกล่าวประกอบด้วย เรือประเภทต่างๆ 60 ลำ แทงก์น้ำ 120 แทงก์ และเครื่องกรองน้ำ

และเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว รัฐบาลจีนยังได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำและควบคุมอุทกภัยเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมตามคำขอของรัฐบาลไทยด้วย ซึ่งนายเหลียง เจียจือ รองผู้อำนวยการสำนักงานอุทกวิทยา กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ช่วงเวลาที่วิกฤตที่สุดในการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงจาก 2.29 เมตร เหลือ 2.1 เมตร ถือเป็นการยกภูเขาลูกใหญ่ออกจากอก

หลิว หนิง รมช.กระทรวงทรัพยากรน้ำและหัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า กรุงเทพฯยังคงเสี่ยงที่จะเผชิญน้ำท่วม แต่ “เราหวังว่าอุทกภัยจะพ่ายแพ้ให้กับความพยายามจากทุกฝ่าย"

ขณะเดียวกันยังมีรัฐบาลอีกหลายประเทศที่บริจาคเงินและส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย ออสเตรเลีย เป็นต้น

ขณะที่ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน แห่งอินโดนีเซีย ในฐานะที่เป็นประธานอาเซียน เปิดเผยว่า สมาคมอาเซียนเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งรวมถึงกัมพูชา เวียดนาม ลาว และฟิลิปปินส์ด้วย

“แน่นอน อินโดนีเซียจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนกับที่อินโดนีเซียเคยได้รับเมื่อครั้งเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆขึ้นในประเทศ" ผู้นำอิเหนากล่าว

ด้านองค์การสหประชาชาติตอกย้ำความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอาเซียนในการสนับสนุนให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสามารถฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของภัยพิบัติได้ โดยดร. โนลี เฮย์เซอร์ เลขาธิการบริหารของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (เอสแคป) ยืนยันว่า หน่วยงานของยูเอ็นกว่า 20 แห่งกำลังประสานงานกับอาเซียนผ่านทางแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ (ASEAN-UN Strategic Plan of Cooperation on Disaster Management) ในระหว่างปี 2554 - 2558

นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนก็แสดงความประสงค์ให้ความช่วยเหลือไทยเช่นกัน ทั้งองค์กรการกุศล อาทิ The Association of Medical Doctors of Asia (AMDA) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศในญี่ปุ่น และ The Hoopoe Bird Foundation ตลอดจนบริษัทต่างๆ เช่น โตชิบา คอร์ปอเรชั่น ที่เผยว่า บริษัทจะบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือรวมเป็นมูลค่า 30 ล้านเยน โดยโตชิบามีโรงงานอยู่ในสวนอุตสาหกรรมบางกระดี สำหรับผลิตตู้เย็น เครื่องซักผ้า และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

ขณะที่มิตซูบิชิ อีเล็คทริค จะบริจาคเงิน 50 ล้านเยน และโซนี่ คอร์ป จะมอบเงิน 30 ล้านเยน รวมทั้งรวบรวมเงินบริจาคจากพนักงานของกลุ่มบริษัทโซนี่มาสมทบเพิ่มเติมอีกด้วย

ทั้งนี้ โซนี่ต้องระงับการผลิตที่โรงงาน 2 จาก 3 แห่งในประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยหนึ่งในนั้นเป็นโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูปสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว ขณะที่อีกแห่งผลิตสารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดักเตอร์ ด้านโฆษกมิตซูบิชิ อีเล็คทริคเผยว่า บริษัทมีฐานการผลิต 6 แห่งในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมโดยตรง

สุดท้ายนี้ In Focus ขออาศัยพื้นที่เล็กๆ แสดงความซาบซึ้งในน้ำใจอันเปี่ยมล้นของพี่น้องชาวไทย รวมถึงขอบคุณมิตรจิตรมิตรใจจากมิตรประเทศ และหวังว่าเมื่อน้ำลดแล้ว สิ่งดีๆเหล่านี้จะยังคงอยู่ ไม่เหือดแห้งลงตามไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ