ศูนย์วิจัยกสิกรคาดน้ำท่วมฉุดดัชนี MPI ไตรมาส 4 ร่วงหนัก ทั้งปีติดลบ 2.1-3.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 19, 2011 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจากสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี รวมทั้งโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมในจังหวัดที่ประสบภัยจะฉุดให้ภาคอุตสาหกรรมไทยลดลงอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาส 4/54 คาดว่าจะลดลงในกรอบ 6.3-13.2% ส่วนทั้งปี 54 น่าจะลดลงในกรอบ 2.1-3.8%

กรณีพื้นฐานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ในไตรมาส 4/54 อาจลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 54 อาจหดตัว 2.8% กรณีนี้สถานการณ์น้ำท่วมอาจส่งผลกระทบต่อการหยุดผลิตบางช่วงในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกด้วย แต่ไม่เข้าไปถึงสมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ระดับน้ำในพื้นที่ประสบภัยอาจลดลงภายใน 2 เดือน โรงงานในอยุธยาบางส่วนจะกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ อาจล่าช้าไปถึงเดือนธ.ค. ซึ่งจะทำให้ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนต.ค. อาจลดลง 14.1% และยังคงติดลบไปถึงปลายปี แต่เป็นอัตราที่ชะลอลง

แต่หากเป็นกรณีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด คาดว่าดัชนี MPI ไตรมาส 4/54 จะลดลง 6.3% และทั้งปีนี้จะลดลง 2.1% โดยกรณีนี้ สถานการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมไม่แผ่ขยายจากอยุธยาและปทุมธานี เข้ามาถึงกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา และระดับน้ำลดลงภายใน 1 เดือน ส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนต.ค. อาจลดลง 11.5%

สุดท้ายกรณีเลวร้าย คาดว่าดัชนี MPI ไตรมาส 4/54 จะลดลง 13.2% ส่วนทั้งปีจะลดลง 3.8% โดยกรณีนี้สถานการณ์น้ำท่วมอาจส่งผลกระทบต่อการหยุดผลิตบางช่วงในนิคมอุตสาหกรรมบางส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการหยุดเพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำ ระดับน้ำในพื้นที่ประสบภัยรุนแรงอาจลดลงช้า ทำให้โรงงานจำนวนมากไม่สามารถกลับมาผลิตได้ทันในปีนี้ ในกรณีนี้ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนต.ค. และพ.ย.อาจลดลงประมาณ 16% และยังลดลงในอัตราสูงในเดือนธ.ค.

"จากทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีของภาคอุตสาหกรรม (มูลค่า ณ ราคาคงที่) ในปี 2554 อาจหดตัว 1.5% ในกรณีพื้นฐาน โดยกรอบคาดการณ์อยู่ในช่วงหดตัว 1.1-2.0% จากที่เติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 13.9% ในปี 2553" เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, โรงสีข้าว, ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีโรงงานได้รับความเสียหาย เช่น รองเท้า, สิ่งทอ, เครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, บรรจุภัณฑ์, โลหะ, เครื่องจักร, แม่พิมพ์อุตสาหกรรม, เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และเลนซ์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ