ที่ปรึกษากม.บอร์ด กสทช.ไร้ข้อสรุปตัดสิทธิ "พิรงรอง" โหวตคำร้อง TRUE หรือไม่ เลื่อนไปถก 15 พ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 6, 2025 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อ 1 พ.ค.ยังไม่สามารถสรุปผลประชุมได้ แม้เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. มีสิทธิที่จะพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น [TRUE] และ ทรูมูฟ เอช เพราะเป็นคนละนิติบุคคลกับที่เคยมีกรณีพิพาทกับ ทรู ไอดี แต่ถูกคัดค้านจากนักกฎหมายอาวุโสรายหนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ ทำให้ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 15 พ.ค.นี้

แหล่งข่าวใกล้ชิด กสทช. กล่าวว่า ในการประชุมอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่มีนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน และยังมีนักฎกหมายชื่อดังร่วมด้วย อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นต้น และยังมีกรรมการ กสทช.เข้าร่วมครบทุกคน ได้มีวาระการประชุม 2 ข้อ

ข้อแรกเป็นการพิจารณาว่ากรณีกลุ่ม TRUE ได้ทำหนังสือคัดค้าน น.ส.พิรงรอง ไม่ให้พิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม TRUE ทั้งหมดหลังจากที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาให้จำคุก น.ส.พิรงรอง 2 ปี ในความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 6 ก.พ.68 เมื่อศาลอาญาฯ มีคำตัดสินแล้ว จะถือว่า น.ส.พิรงรอง มีสภาพร้ายแรงทำให้พิจารณาเรื่องของ TRUE ไม่ได้ใช่หรือไม่ เพราะ TRUE เกรงว่าจะไม่เป็นกลาง

ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการ เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า TRUE ต้องร้องคัดค้านน.ส.พิรงรองเป็นรายกรณีไม่ใช่ร้องเหมารวม และต้องเป็นคู่กรณีในทีนี้คือทรูดิจิทัล หรือ ทรูไอดี แต่ ทรู คอร์ปอเรชั่น และทรูมูฟเอช ไม่ใช่คู่กรณี ดังนั้นเป็นคนละนิติบุคคลจึงไม่สามารถคัดค้านได้ พร้อมยกตัวอย่าง ปตท.ในเครือมีจำนวนกว่า 200 บริษัท บริษัทหลานกว่า 300 บริษัท ถ้าบริษัทลูกหรือบริษัทหลานใดบริษัทหนึ่งไปฟ้องคดี จะห้ามไม่ให้พิจาณาทั้ง 500 บริษัทไม่ได้

โดยที่ผ่านมาในการพิจารณาของกรรมการ กสทช.ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ ทรู มูฟ เอช ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช.และ น.ส.พิรงรองก็แถลงว่าไม่ใช่วาระของ ทรู ไอดี จึงไม่ได้ออกจากห้องประชุม สอดคล้องกับความเห็นที่ปรึกษากฎหมาย ในเมื่อบริษัทไม่เคยคัดค้านการทำหน้าที่ของ น.ส.พิรงรอง มาก่อน และเจ้าตัวก็ระบุเองไม่มีปัญหาเรื่องความเป็นกลาง ก็สามารถพิจารณาต่อไปได้

แต่มีคำถามในที่ประชุมว่า ถ้าอย่างนั้น กรรมการ กสทช.จะสามารถหยิบยกมาพิจารณาว่า น.ส.พิรงรอง ไม่เป็นกลางหรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมที่ปรึกษากฎหมายก็เห็นตรงกันว่าไม่สามารถหยิบยกขึ้นมาเองได้เพราะกฎหมายเขียนชัดว่าจะคัดค้านได้แค่ 2 กรณีคือบริษัทคัดค้านหรือเจ้าตัวยอมรับเอง อย่างไรก็ดี ได้มีที่ปรึกษากฎหมายที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าใกล้ชิดประธานบอร์ด กสทช.กลับเห็นต่าง โดยบอกว่าที่ประชุมบอร์ด กสทช.มีสิทธิพิจารณา

ทั้งนี้ นายจรัล ไม่อยากเห็นภาพที่ปรึกษากฎหมายแบ่งฝ่าย จึงได้เลื่อนการประชุมและพิจารณาในครั้งหน้าในวันที่ 15 พ.ค.68

อย่างไรก็ดี หากที่ปรึกษากฎหมาย ให้ความเห็นว่า คณะกรรมการ กสทช.สามารถหยิบยกความเป็นกลางของ น.ส.พิรงรองขึ้นมาได้เอง ก็มองว่าจะเป็นสงครามครั้งใหม่ และอาจจะมีคดีตามมา แต่ถ้าประเด็นนี้ชัดว่าเป็นไปตามกฎหมายว่าคนที่จะคัดค้านได้เป็นบริษัท หรือ เจ้าตัวกรรมการ เอง ดังนั้น บอร์ด กสทช.ก็คงต้องถอย

"การประชุมที่ใช้เวลาพิจารณานานกว่า 2 ชม.ก็ต้องตัดจบไป เพราะประเด็นร้อนแรง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ข้อหารืออีกข้อเรื่องระเบียบการใช้เงินจากกองทุน กทปส. ก็ต้องปัดตกไปก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องชิงไหวชิงพริบที่จะสร้างแต้มต่อคะแนนเสียงบอร์ด กสทช. เพราะหาก น.ส.พิรงรอง ไม่มีสิทธิโหวตในวาระพิจารณาของกลุ่มทรู เสียงโหวตในบอร์ดจะเหลือ 3:3 ขณะที่ประธานมีสิทธิใช้เสียงโหวตได้อีกครั้ง เป็นเกมที่ต้องจับตาดูต่อไป"



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ