
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดครั้งที่ 1/2568 วันที่ 6 พ.ค. 2568 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมตรีและรมว.คมนาคม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทาง การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Smart Commercial) นำร่องพื้นที่หน้าท่าติดริมน้ำ ประมาณ 520 ไร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของการท่าเรือฯ ไม่มีสัญญาเช่าหรือสัญญาผูกพันกับหน่วยงาน หรือเอกชนรายใด และไม่มีผลกระทบต่อประชาชน ส่วนใหญ่เป็นลานและอาคารเก่า เป็นที่ตู้สินค้าเก่า เป็นต้น
โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะไปดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาออกแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่โดยละเอียด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเป้าหมาย โดยก่อนหน้านี้ กทท.ขออนุมัติกรอบวงเงิน 20 ล้านบาทสำหรับจัดจ้างที่ปรึกษาแล้ว หลังจากนี้จะไปดำเนินการจัดจ้างตามขั้นตอน โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการศึกษา 10 เดือน คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณเดือน พ.ค.2569
"กรอบการศึกษาหลักๆ จะเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่หน้าท่า ที่เกิดประโยชน์สูงสุด ในเชิงพาณิชย์ ต้องมี Business Model พื้นที่ 520 ไร่ เป็นโซนติดริมแม่น้ำ ถือเป็นพื้นที่มีศักยภาพที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นได้ทั้ง ท่าเรือท่องเที่ยว Cruise Terminal โครงการ Mixed-Use Building Complex ศูนย์การค้า หรือ ช้อปปิ้งมอลล์ รวมไปถึงสนามกีฬา โรงแรม รวมถึงพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งหลักการพัฒนากิจกรรมควรมีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน"นางมนพรกล่าว
ในส่วนของเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ที่จะเกิดนั้น นางมนพร กล่าวว่า ขอให้กฎหมาย หรือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ผ่านก่อน ซึ่งอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศก็อยากจะทำ ซึ่งพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นทำเลทอง การจะทำอะไร จะต้องรอดูกฎหมายและทุกภาคส่วนจะต้องให้ความร่วมมือด้วย
ในการศึกษา จะมี Business Model ว่า พื้นที่ 520 ไร่ ควรทำอะไรบ้างที่การท่าเรือฯและประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด ดังนั้น ทั้งเรื่อง Mixed-Use ศูนย์การค้า สนามกีฬา โรงแรม ทุกองค์ประกอบที่ต้องนำไปศึกษา ส่วนเรื่อง เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ ตามกรอบจะมีกาสิโนในสัดส่วน 10% เท่านั้น และจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด
สำหรับโครงการ Smart Community พัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูง ให้ชุมชนคลองเตยนั้น จะอยู่ในแผนพัฒนาระยะต่อไป ซึ่งก่อนจะดำเนินการ ต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนอีกครั้ง ว่ายังต้องการการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูงเหมือนเดิมอีกหรือไม่ หรือต้องการพัฒนในรูปแบบใด เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันมากที่สุด เพราะจากเหตุแผ่นดินไหว ประชาชนอาจจะไม่อยากอยู่ตึกสูงก็ได้
โดยกทท.รายงานการสำรวจชุมชนคลองเตยล่าสุดมี 27 ชุมชุม มีประชากรจำนวน 14,000 ครัวเรือน(ไม่รวมประชากรแฝง) ซึ่งจากการพูดคุยชุมชนการพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่ 520 ไร่ ไม่กระทบต่อชุมชน
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเดิมเมื่อปี 2562 มีจำนวน 2,353.2 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 943 ไร่ นอกเขตรั้วศุลกากร 1,410 ไร่ โดยมีกรอบการพัฒนา 3 ส่วน คือ โครงการท่าเรืออัจฉริยะ Smart Port & Green Port ,2. โครงการ Smart Community พัฒนาที่อยู่อาศัยจากแนวราบเป็นแนวสูง ให้ชุมชน และ 3. พื้นที่เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และตามนโยบายปัจจุบันที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่กระทบต่อประชาชน จึงมีการทบทวนและออกแบบใหม่ โดยมุ่งไปที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ พื้นที่เป้าหมายจำนวน 520 ไร่ ติดริมหน้าที่มีคุณภาพสูงก่อน ส่วนการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ เป็น Smart Port & Green Port ประมาณ 590 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับ พื้นที่เชิงพาณิชย์ จะทำควบคู่ไปด้วย โดยมีการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่เนื่องจาก มีการปรับขอบเขตพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่อาจจะมีการทับซ้อนกันบ้าง จึงจะรอให้ศึกษาพื้นที่เชิงพาณิชย์สรุปขอบเขตชัดเจนก่อน และพัฒนาทั้ง Smart Port และ Smart Commercial ไปพร้อมกัน
นายเกรียงไกรกล่าวว่า กทท.จะเร่งจัดทำรายละเอียดกรอบการศึกษาและกรอบวงเงินค่าจ้าง นำเสนอบอร์ดกทท.ขออนุมัติให้ทันการประชุมเดือนพ.ค.นี้ เพื่อเปิดประมูลจ้ดจ้างต่อไป อย่างไรก็ตาม บริเวณท่าเรือกรุงเทพทั้ง 2,353 ไร่ จะต้องมีการปรับขอบเขตรั้วศุลกากรใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานที่ปรับปรุงใหม่ด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบแนวทางการจัดระเบียบด้านจราจรและสิ่งแวดล้อม รอบท่าเรือกรุงเทพ โดยเห็นควรให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกทท.ร่วมกันเร่งรัดการดำเนินการทางพิเศษสาย S1 เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือกับ ทางพิเศษบางนา-อาจณรงค์ และให้กรมการขนส่งทางราง การรถไฟฯ และกทท.ศึกษาการเชื่อมต่อระบบรางเข้าในไปให้บริการด้านขนส่งตู้สินค้า และศึกษาเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะด้วย แทรมป์ระหว่าง MRT ศูนย์สิริกิติ์ ไปยัง BTS พระโขนง