
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2568 ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยเริ่มกล่าวว่า จากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นประโยชน์ ตรงกับแนวทางของรัฐบาล ซึ่งได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man made Destination) และขยายผลการใช้แพลตฟอร์มแจ้งปัญหา (Traffy fondue) ทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นช่องทางร้องเรียนหลักของรัฐบาล ดังนั้น จึงฝากให้ทุกกะทรวงไปขยายผลในเรื่องนี้ เพื่อให้แต่ละกระทรวงได้รับเรื่องร้องเรียนไปแก้ปัญหา โดยรัฐบาลจะเป็นศูนย์กลางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่องทางออนไลน์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงมาตรการป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้าไทย โดยได้แก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายของไทย โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่เอื้อต่อการสวมสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจในลักษณะที่เป็นนอมินี พร้อมเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า รวมถึงคุณภาพต่าง ๆ
พร้อมกันนี้ ขอให้ทบทวนเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน ที่จะมีการจ้างงานของแรงงานไทย โดยใช้ปัจจัยการผลิตของประเทศ และการออกใบกำกับรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำถึงการให้บริการประชาชนแบบ One Stop Service โดยให้กระจายไปยังทุกกระทรวงอย่างทั่วถึง เพราะหากประชาชนมาติดต่อ และได้รับการสนับสนุนเกี่ยวกับการลงทุนให้เป็นในรูปแบบเดียวกัน จะได้ลดขั้นตอน และประหยัดเวลา
ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้รายงานตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา พบว่า ภาครัฐในปีนี้จะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนในระบบกว่า 5 แสนล้านบาท คิดเป็น 34 % ของงบลงทุนทั้งหมด ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าดีขึ้นอย่างมาก แต่เชื่อว่าจะดีขึ้นได้อีก ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากทุกกระทรวง ขณะเดียวกัน ได้รับทราบความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ถึงการลงทุนของแต่ละกระทรวงว่าติดปัญหาในด้านใด ถือว่าเป็นเรื่องดี ที่ได้รับทราบความคืบหน้าของแต่ละกระทรวงในการประชุมทุกครั้ง
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกบทบาทที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องเร่งส่งเสริมสินค้าเกษตรไทย เนื่องจากพบว่าสินค้าเกษตรมีราคาต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเฉพาะผลไม้ไทย ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณล้นตลาดในหลายชนิด ดังนั้นสิ่งแรก จึงขอสนับสนุนจากหน่วยงานราชการทุกกระทรวง ให้ช่วยซื้อสินค้าจากเกษตรกร โดยให้ไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์ และเริ่มวางแผนการจัดซื้อ
"ต้องเริ่มวางแผนแล้ว ว่าจะจัดซื้อสินค้าเกษตรอย่างไรได้บ้าง หรือขาดในด้านใด และต้องเติมเข้าไป เพราะเมื่อสินค้าเกษตรล้นตลาด จะสามารถกระจายไปยังภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ผลไม้บางอย่างที่อยู่ได้ไม่นาน ถ้าในประเทศบริโภคก่อน ก็จะช่วยเกษตรกรได้ง่าย ดังนั้นจึงเน้นย้ำให้ทุกกระทรวงร่วมมือกันในเรื่องนี้" นายกรัฐมนตรี ระบุ
พร้อมกันนี้ อยากให้กระทรวงพาณิชย์ หามาตรการพยุงราคาสินค้าให้มีเสถียรภาพ โดยไม่อยากให้มีพ่อค้าคนกลางกดราคาสินค้าเกษตร และดึงภาคเอกชนมาให้ความร่วมมือ
ส่วนโครงการ Thai SELECT ที่กระทรวงพาณิชย์ได้เนินการ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการใช้สินค้าไทยสนับสนุนเพิ่มเติมได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะร้านอาหารไทยที่อยู่ในต่างประเทศ จะมีมาตรการรับรองหรือส่งออกไปยังประเทศต่างๆ อย่างไรได้บ้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องหารือกับกระรวงการต่างประเทศเพื่อดูช่องทางในการเชื่อมกับร้านอาหารไทย โดยอาจจะมองในการช่วยเหลือด้านต้นทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกิจไทยในต่างประเทศได้อีกช่องทางหนึ่ง
ขณะที่การขับเคลื่อนการค้าการลงทุนของกระทรวงพาณิชย์ และการรับมือผลกระทบมาตรการของสหรัฐฯ นั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ โดยพยายามใช้การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศอื่น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ในเรื่องของดุลการค้า เพื่อทำให้เกิดความสมดุลและราบรื่น ดังนั้นจึงขอฝากให้ทุกกระทรวงได้ดำเนินการ โดยเฉพาะในช่วงเดือนนี้ และตนพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะเชิงรุก
ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมแนวทางรับมือกับความท้าทายของบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กร เพื่อสามารถให้บริการประชาชนในรูปแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร รวมทั้งภัยคุกคามจากนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ในด้านความท้าทายระหว่างประเทศ ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.68 โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน เพื่อดำเนินงานเชิงรุกในการติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ผลกระทบ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรูปแบบองค์รวม (Holistic Approach)
จากนั้น ในช่วงเดือนก.พ. กระทรวงพาณิชย์ได้จัดคณะผู้แทนไทยเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อหารือกับทั้งภาครัฐและเอกชนของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน รวมถึงรับฟังปัญหาและข้อกังวลของภาคเอกชน ตลอดจนชี้แจงจุดยืนของไทยอย่างเป็นทางการ และยังได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้งประชุมหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 ฝ่าย (กกร.) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ และวางท่าทีร่วมกันในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง และในการประชุมครั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งพิจารณาแนวทางการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจำเป็น และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป
นายวุฒิไกร กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะการนำระบบดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน อาทิ การใช้ระบบสารบัญอิเล็กทรอนิกส์ ในการรับ-ส่งเอกสารภายในและภายนอกหน่วยงาน ซึ่งส่งผลให้สามารถลดการใช้กระดาษได้กว่า 5,000 รีมต่อปี และลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการทำงานได้มากกว่า 26 ตันต่อปี ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนหน่วยงานสู่ระบบราชการสีเขียว (Green Government)
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ มีแผนเปิดตัว "Super App" ซึ่งจะรวบรวมบริการของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดไว้ในแอปพลิเคชันเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอน และเวลาในการติดต่อกับภาครัฐ ถือเป็นการยกระดับการให้บริการของภาครัฐไปอีกขั้น
รวมถึงเปิดตัวแอปพลิเคชัน "MOC Go" ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยบูรณาการข้อมูลจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้สามารถติดตามสถานะของผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อจับคู่ทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยกับตลาดต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ผ่านระบบ Generative AI ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ตอบคำถามเชิงกลยุทธ์ และช่วยในการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

