กบร.ออกข้อบังคับใหม่ให้สายการบินเพิ่มชดเชยให้ผู้โดยสารกรณีล่าช้า-ยกเลิก เริ่ม 20 พ.ค.68

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 12, 2025 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กบร.ออกข้อบังคับใหม่ให้สายการบินเพิ่มชดเชยให้ผู้โดยสารกรณีล่าช้า-ยกเลิก เริ่ม 20 พ.ค.68

คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคมเป็นประธาน ออกข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 101 มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำในประเทศและระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ ได้เพิ่มความคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารกรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าหรือยกเลิก โดยไม่ได้แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้าและผู้โดยสารเดินทางถึงสนามบินแล้ว


กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง สายการบินจะต้อง

กบร.ออกข้อบังคับใหม่ให้สายการบินเพิ่มชดเชยให้ผู้โดยสารกรณีล่าช้า-ยกเลิก เริ่ม 20 พ.ค.68

- จัดอาหารและเครื่องดื่ม หรือคูปองสำหรับแลกซื้ออาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสมกับมื้ออาหารและระยะเวลาที่รอขึ้นอากาศยาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

- จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ เช่น โทรศัพท์ e-mail ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย


กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง สายการบินจะต้อง จัดอาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์สื่อสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง และต้อง

- ชำระค่าชดเชยเป็นเงินสดให้แก่ผู้โดยสารจำนวน 1,500 บาท หรือเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป (credit shell) หรือบัตรกำนัลการเดินทาง (travel vouchers) หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยดังกล่าว โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าการชำระค่าชดเชยเป็นเงินสด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุเที่ยวบินล่าช้า

กบร.ออกข้อบังคับใหม่ให้สายการบินเพิ่มชดเชยให้ผู้โดยสารกรณีล่าช้า-ยกเลิก เริ่ม 20 พ.ค.68

- จัดที่พักพร้อมการรับส่ง หากต้องมีการพักค้างคืน

- เมื่อผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ สายการบินจะต้องเสนอทางเลือกแก่ผู้โดยสารในทันทีเพื่อพิจารณาเลือกระหว่างรับเงินค่าโดยสารคืน หรือรับวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป (credit shell) หรือบัตรกำนัลการเดินทาง (travel vouchers) หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นทดแทน


- กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง สายการบินจะต้อง จัดอาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์สื่อสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกิน 2 และ 5 ชั่วโมง และต้อง

- เสนอทางเลือกทั้งหมดแก่ผู้โดยสารในทันที เพื่อพิจารณาเลือกระหว่าง

1) รับค่าชดเชยเป็นเงินสดภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วันนับแต่วันที่เกิดเหตุ

- 2,000 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางไม่เกิน 1,500 กิโลเมตร

- 3,500 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทาง 1,500- 3,500 กิโลเมตร

- 4,500 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางเกิน 3,500 กิโลเมตร หรือ

2) รับค่าชดเชยเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป (credit shell) หรือบัตรกำนัลการเดินทาง (travel vouchers) หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยดังกล่าว โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าการชำระค่าชดเชยเป็นเงินสด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน

- จัดที่พักพร้อมการรับส่ง หากต้องมีการพักค้างคืน

- เมื่อผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อไป สายการบินต้องเสนอทางเลือกทั้งหมดแก่ผู้โดยสารในทันทีเพื่อพิจารณาเลือกระหว่าง

1) รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวน หรือรับเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป (credit shell) หรือบัตรกำนัลการเดินทาง (travel vouchers) หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นทดแทน หรือ

2) เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารหรือไปยังจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียง หรือ

3) การขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิม


กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกยกเลิก หรือปฏิเสธการรับขน สายการบินจะต้องชดเชยผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกินกว่า 10 ชั่วโมง ยกเว้นในกรณีที่สายการบินแจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือในกรณีที่สายการบินแจ้งน้อยกว่า 7 วัน แต่สามารถเปลี่ยนเที่ยวบินให้ผู้โดยสารเดินทางไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้เร็วหรือช้ากว่าไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากวันและเวลาเดิม และในกรณีที่การยกเลิกเที่ยวบินเกิดจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แม้สายการบินดำเนินมาตรการอันสมควรแล้วก็ตาม

ส่วนในกรณีเที่ยวบินในประเทศล่าช้าหรือยกเลิก ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ได้เพิ่มค่าชดเชยหากเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 5 ชั่วโมง จากเดิม 600 บาท เป็น 1,200 บาท และหากเที่ยวบินยกเลิก จากเดิม 1,200 บาท เป็น 1,500 บาท ซึ่งสายการบินสามารถเสนอการคืนค่าชดเชยในรูปแบบของวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป (credit shell) หรือบัตรกำนัลการเดินทาง(travel vouchers) หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นทดแทน ทั้งนี้ ค่าชดเชยจะยกเว้นเหตุอันเกิดจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้สายการบินดำเนินมาตรการอันสมควรแล้วก็ตาม

ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ ยังครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้โดยสารกรณีเที่ยวบินล่าช้าขณะที่เครื่องบินยังอยู่บนภาคพื้นและผู้โดยสารอยู่ในเครื่องบิน (Tarmac Delay) โดยสายการบินต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีเที่ยวบินล่าช้า และต้องจัดให้มีการไหลเวียนอากาศ การปรับอุณหภูมิ และการบริการห้องน้ำภายในห้องโดยสาร จัดให้ผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนเข้าถึงการได้รับบริการทางการแพทย์นั้นโดยเร็ว โดยให้ผู้ชนส่งอำนวยความสะดวกและให้บริการดังกล่าวอย่างเพียงพอและเหมาะสม เท่าที่สามารถดำเนินการได้ กรณีล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมงและยังไม่มีกำหนดเวลาทำการบินขึ้น (take-off tine) ต้องอนุญาตให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน เว้นแต่กรณีที่อาจกระทบต่อความปลอดภัย หรือการรักษาความปลอดภัยหรือด้วยเหตุผลด้านการจัดการจราจรทางอากาศ

ข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 101 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในอุตสาหกรรมการบินของไทย โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จะเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่สายการบินและผู้โดยสารอย่างทั่วถึง เพื่อให้การปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการทุกคน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ