แบงก์รัฐจ่อออก soft loan 1 แสนลบ. เยียวยาผู้ส่งออก-SME-ธุรกิจซัพพลายเชนจากมาตรการภาษีสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 15, 2025 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แบงก์รัฐจ่อออก soft loan 1 แสนลบ. เยียวยาผู้ส่งออก-SME-ธุรกิจซัพพลายเชนจากมาตรการภาษีสหรัฐ

นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประเมินว่า ผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดอย่างน้อย 2 ปี โดยเฉพาะภาคการส่งออก ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ

โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบายผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อซอฟท์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยธนาคารออมสิน กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อซอฟท์โลนโครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ, ธุรกิจซัพพลายเชน และธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SME ในภาพรวม

ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐอื่น เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SME ซัพพลายเชน อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

"อยากให้แต่ละแบงก์รัฐดูตามหน้าที่ของตัวเอง ว่าแต่ละธนาคารจะเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้าง โดยในส่วนของรัฐ ก็จะมีมาตรการเสริมเข้ามาช่วยด้วย ทั้งในแง่ของงบประมาณ มาตรการ นโยบายที่จะเข้าไปเติมเต็มเศรษฐกิจ โดยนอกจากการหารือในวันนี่ ที่ต้องการเน้นในการให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกเป็นหลักแล้ว ก็อยากให้มองแนวทางการให้ความช่วยเหลือไปยังกลุ่ม SME ด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว" นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในระยะต่อไป จะมีการหารือถึงผลกระทบกับกลุ่มแรงงานว่าจะสามารถรักษาตำแหน่งงานไว้ได้หรือไม่ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ โดยจะเป็นการหารือในการประชุมรอบต่อไป

สำหรับที่ผ่านมา สถาบันการเงินของรัฐได้ให้ความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้จากภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ผ่านการดำเนินการ 2 ส่วน คือ การปรับโครงสร้างหนี้ และการซื้อหนี้ ผ่านการจัดตั้ง AMC ซึ่งได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยปรับลดลงมา

โดยล่าสุด หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 90% ต่อ GDP และในการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในวันที่ 19 พ.ค. นี้ คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย จะลดลงมาอยู่ที่ 86% ของ GDP เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่ขึ้น

ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนที่เป็นหนี้เสีย (NPL) อยู่ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 65% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด คิดเป็น 5.4 ล้านราย เป็นหนี้เสียที่มูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท คิดเป็น 3 ล้านราย โดยในส่วนนี้ ธนาคารออมสินได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 5.4 แสนราย และมีแผนจะแก้ไขอีก 4 แสนราย ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แก้ปัญหาในส่วนนี้ไปแล้ว 2.5 แสนราย และมีแผนจะทำเพิ่มอีก 7 หมื่นราย ซึ่งจะช่วยทำให้หนี้เสียในส่วนนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจำนวนวงเงินจะลดลงไม่มาก คิดเป็น 10% ของ NPL

"สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL) โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ที่ผ่านมา สถาบันการเงินก็ได้มีการเข้าไปคุยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ยก และลดหนี้ให้" รองนายกฯ และรมว.คลังระบุ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ