นายกฯ แลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกภาคธุรกิจไทยลงทุนในเวียดนามหวังยกระดับการค้า-การลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 15, 2025 18:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฯ แลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกภาคธุรกิจไทยลงทุนในเวียดนามหวังยกระดับการค้า-การลงทุน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับนักลงทุนไทยที่ขยายการลงทุนธุรกิจในประเทศเวียดนาม เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายของไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจุดแข็งของเวียดนาม ในการผลักดันการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แนวทางของเวียดนามต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงแนวทางการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนของไทยกับเวียดนามในอนาคต

นอกจากนั้น ยังได้แสดงความขอบคุณภาคเอกชนไทยที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ทั้งในระดับประชาชนและภาคเศรษฐกิจ พร้อมกล่าวชื่นชม ThaiCham ในฐานะหอการค้าไทยในต่างประเทศที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือภาคเอกชนของทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิด

นายกฯ แลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกภาคธุรกิจไทยลงทุนในเวียดนามหวังยกระดับการค้า-การลงทุน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการอาวุโส หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม ซึ่งได้นำคณะนักธุรกิจไทยเข้าร่วมการหารือ โดยเปิดเผยว่า ภาคเอกชนไทย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม และบทเรียนจากความสำเร็จที่อาจนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของไทย พร้อมเสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบายต่อท่านนายกรัฐมนตรีอย่างสร้างสรรค์

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ GDP ของเวียดนามในปี 2024 อยู่ที่ประมาณ 467 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตามหลังไทยเพียงราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เท่านั้น สะท้อนถึงศักยภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตในระดับสูง ได้แก่ โครงสร้างประชากรที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็ว (จาก 17 ล้านคนในปัจจุบัน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 35 ล้านคนภายในปี 2035) หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ ระบบบริหารจัดการแบบพรรคเดียว ที่วางแผนพัฒนาระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนด KPI ชัดเจนให้กับหน่วยงานต่าง ๆ

นายกฯ แลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกภาคธุรกิจไทยลงทุนในเวียดนามหวังยกระดับการค้า-การลงทุน

โดยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เวียดนามยังคงยึดหลักนโยบายการเงินแบบระมัดระวัง โดยเน้นการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุนและบริโภค พร้อมทั้งดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน ให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนธุรกิจในระยะยาวได้อย่างมั่นใจ

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศเป้าหมายการเติบโตอย่างชัดเจน โดยตั้งเป้าให้ GDP ปี 2025 เติบโตไม่ต่ำกว่า 8% และเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปีในช่วงปี 2026-2030 พร้อมด้วยมาตรการสำคัญ เช่น การปฏิรูปราชการ ลดจำนวนข้าราชการลงกว่า 20% ภายใน 5 ปี การส่งเสริมอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ การยกระดับเป็นศูนย์กลางการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการดึงดูดบริษัทระดับโลกอย่าง Samsung และ Apple รวมถึงการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น Semiconductor และ AI ตามแนวคิด New S-Curve

"บทเรียนจากเวียดนามในด้านการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ และการดำเนินนโยบายอย่างมุ่งเป้า เป็นสิ่งที่ไทยสามารถนำกลับมาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะในบริบทของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในภูมิภาค" นายสนั่น ระบุ

ทั้งนี้ ภาคเอกชนไทยรายใหญ่ที่ร่วมการหารือครั้งนี้ ได้สะท้อนข้อเสนอและประสบการณ์การลงทุนในเวียดนาม ดังนี้

1. SCG ดำเนินธุรกิจในเวียดนามมากว่า 30 ปี มี 27 บริษัทและ 50 โรงงาน ครอบคลุมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บรรจุภัณฑ์ ซีเมนต์ และโลจิสติกส์ รวมมูลค่าลงทุนกว่า 250,000 ล้านบาท จ้างงานกว่า 16,000 คนทั่วประเทศ โดยโครงการปิโตรเคมีในจังหวัดบาเรียะ-หวุงเต่า มูลค่า 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (182,000 ล้านบาท) กำลังปรับสารตั้งต้นเป็น "อีเทน" นำเข้าจากสหรัฐฯ และขอรับการสนับสนุนด้านสถานะ MFN จากรัฐบาลเวียดนาม

2. อมตะ คอร์ปอเรชัน ดำเนินธุรกิจในเวียดนามมา 30 ปี พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือ กลาง และใต้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือเชิงนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

3. WHA Group เข้าลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2017 มี 3 กลุ่มธุรกิจ โดยประสบความสำเร็จเด่นชัดในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดแงอาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางการจนสามารถดึงดูดการลงทุนจาก Foxconn ได้สำเร็จ

4. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีการลงทุนในจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยในเวียดนามมีความประสงค์ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการยกระดับจาก "ธนาคารสาขาต่างชาติ" เป็น "ธนาคารท้องถิ่น"

5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ดำเนินความร่วมมือกับ 3 ธนาคารเวียดนาม ได้แก่ BIDV, Vietcombank และ VietinBank พร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจไทยในกลุ่มธุรกิจสีเขียว (Green Economy) และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเวียดนาม

6. เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) เริ่มลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 1993 ในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ทั้งสุกร ไก่ อาหารสัตว์ รวมถึงการมีส่วนร่วมกับเกษตรกรเวียดนามในลักษณะ Contract Farming โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องที่ดินในหลายจังหวัด พร้อมตอบแทนสังคมผ่านโครงการ CSR

7. Super Energy Corporation ซึ่งดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนในเวียดนาม ได้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาการชำระค่าไฟฟ้าตามเงื่อนไขในสัญญา

8. กลุ่มเซ็นทรัล เข้าลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2012 ในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและค้าปลีก โดยทำงานใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ท้องถิ่น ช่วยสร้างงานในหลายจังหวัด และขอให้รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนพื้นที่เหมาะสมสำหรับการขยายสาขาในอนาคต

9. ไทยเบฟเวอเรจ ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และซูเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม โดยขอรับการสนับสนุนเรื่องที่ดินสำหรับโครงการในอนาคต

10. สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาโครงการค้าปลีกระดับโลกในไทย กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในเวียดนาม โดยขอให้รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนพื้นที่สำหรับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พร้อมแสดงเจตนารมณ์ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นเวียดนามตามรูปแบบที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ

โดยการพบปะครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมสำคัญก่อนจะมีการจัดงาน Vietnam-Thailand Business Forum 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16 พ.ค.68 โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย และนาย ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมงานและขึ้นกล่าวถ้อยแถลง วิสัยทัศน์ของผู้นำสองประเทศ และเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในหลากหลายมิติ

สำหรับการหารือครั้งนี้มีคณะผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลไทยที่ร่วมภารกิจ อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางสาวอุรวดี ศรีภิรมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

ด้านภาคเอกชน นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการอาวุโส หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำของไทย อาทิ SCG, WHA Corporation, AMATA VN, C.P. Vietnam, SUPER Energy, ธนาคารกสิกรไทย, ไทยเบฟเวอเรจ, The 1 Central Group, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เป็นต้น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ