นโยบาย "ทรัมป์"-เหล็กจีนทะลัก ซ้ำเติมอุตฯเหล็กไทย แนะภาครัฐออกมาตรการดูแล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 16, 2025 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นโยบาย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังคงเผชิญความท้าทายทั้งการทะลักเข้ามาของเหล็กจีน และนโยบาย Trump 2.0 ที่มีการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กเป็น 25%

SCB EIC ประเมินว่าสินค้าเหล็กจากจีนจะยังคงถูกระบายเข้ามายังไทยต่อเนื่องในปี 68 โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าเหล็กปลายน้ำ เช่น เหล็กเคลือบหรือชุบสังกะสี (Galvanized steel) เหล็กทาสี ที่มีสัดส่วนการนำเข้ามาใช้งานมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้งานเหล็กกลางน้ำที่ผลิตในประเทศเพื่อนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าเหล็กปลายน้ำลดลง รวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าเหล็กปลายน้ำของไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้าเหล็กปลายน้ำนำเข้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

โดยสินค้าจากจีนมีความได้เปรียบในด้านการกำหนดราคาขายได้ต่ำ จากปริมาณการผลิตที่มากจนเกิด Economies of Scale ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตเหล็กของไทย จึงควรหันมาพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า หรือปรับตัวไปผลิตสินค้าเหล็กที่สร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากเหล็กก่อสร้าง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมไปถึงสร้าง Supply chain ที่แข็งแกร่งร่วมกับทางลูกค้า และเน้นการให้บริการไปสู่กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้งานขั้นสุดท้าย (End users) มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องกระจายแหล่งจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อลดความเสี่ยงด้าน Supply chain

ขณะที่การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กของสหรัฐอเมริกาเป็น 25% จะส่งผลโดยตรงต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกเหล็กไทยไม่มาก เนื่องจากสินค้าเหล็กจากไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไปยังสหรัฐอเมริกาในอัตรา 25% มาตั้งแต่ปี 61 อยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางอ้อม จากการทะลักเข้ามาของเหล็กนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีน โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 61 โดยประเทศเหล่านั้นจะเริ่มถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ส่งผลให้อาจมีการระบายสินค้ามายังไทยแทน ซ้ำเติมผู้ผลิตเหล็กของไทยให้ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ทำให้ยิ่งซ้ำเติมผู้ผลิตเหล็กของไทยโดยเหล็กที่คาดว่าจะถูกระบายเข้ามามากขึ้นประมาณ 10-15% ทั้งเหล็กราคาถูกจากจีนที่มีผลผลิตล้นตลาด (Overcapacity) และเหล็กที่มีคุณภาพสูงจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าเหล็กปลายน้ำ อาทิ เหล็กชุบหรือเคลือบสังกะสี (Galvanized steel) เหล็กทาสี (Color-coated steel) ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กระทบกับความต้องการสินค้าเหล็กกลางน้ำ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน หรือเหล็กม้วนดำ รวมถึงเหล็กแผ่นรีดเย็น เพื่อนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าเหล็กปลายน้ำ ให้มีการใช้งานที่ลดลง รวมถึงผู้ผลิตสินค้าเหล็กปลายน้ำของไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้าเหล็กปลายน้ำนำเข้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เหล็กไทยยังคงมีโอกาสส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปริมาณการผลิตและการใช้งานเหล็กของสหรัฐฯ ที่ยังไม่สอดคล้องกัน รวมถึงยังขาดแคลนเหล็กบางประเภทที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น เหล็กกล้าความแข็งแรงสูง และเหล็กสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า จึงต้องอาศัยการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศเข้าไปใช้งาน

อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีปัจจัยกดดันจากการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง เช่น อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งมีความสามารถในการผลิตสินค้าเหล็กประเภทเดียวกันกับที่ไทยส่งออกไปขายยังสหรัฐอเมริกา ทั้งเหล็กทรงแบนประเภทรีดร้อน และรีดเย็น เหล็ก Galvanized รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก เช่น ท่อเหล็ก สปริง ตะปูเกลียว และมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเนื่องจากมีการผลิตเหล็กตั้งแต่เหล็กต้นน้ำ ขณะที่การผลิตเหล็กในไทยเป็นการใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศจีนในสัดส่วนที่สูง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เหล็กจากไทยอาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of origin) ซึ่งอาจนำมาสู่การถูกดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านกลไกการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยได้

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กจำนวนมากประสบกับภาวะขาดทุน ทั้งกลุ่มผู้ผลิตที่มียอดขายลดลง จากการลดลงของราคาเหล็ก และการลดปริมาณการผลิตเหล็ก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กจากต่างประเทศที่ราคาถูกกว่า รวมถึงยังเผชิญกับภาวะขาดทุนจากต้นทุนสินค้าในสต็อกที่ได้มาในช่วงราคาสูง แต่ต้องจำหน่ายในช่วงราคาปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถบริหารความเสี่ยง และมีความยืดหยุ่นในการปรับกลยุทธ์ โดยเฉพาะการจัดหาวัตถุดิบ ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้สามารถจัดหาวัตถุดิบได้ในราคาและปริมาณที่เหมาะสมกับแผนการผลิต และสามารถระบายสต็อกสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาผลประกอบการท่ามกลางความผันผวนของราคาเหล็กได้

ขณะที่ภาครัฐยังจำเป็นต้องออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทยควบคู่กันไป เช่น การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กจากจีน เพิ่มระดับความเข้มงวดของการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) การใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti-Circumvention: AC) กับสินค้าที่มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงอัตรา AD การกำหนดมาตรฐานสินค้าเหล็กนำเข้าและส่งออก การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสินค้าเหล็กนำเข้าให้ตรงกับรายการสินค้าที่สำแดง การจำกัดการอนุญาตตั้งโรงงานเหล็กแห่งใหม่เพื่อรักษาอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตจากจีน ที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตเข้ามาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับในปี 68 ปริมาณการใช้งานเหล็กของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 16.2 ล้านตัน (+1.7%YOY) ขณะที่ราคาเหล็กโดยเฉลี่ยยังคงมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน 4.8%YOY ปริมาณการใช้งานเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบนในปี 68 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 6.1 ล้านตัน (+2.3%YOY) และ 10.0 ล้านตัน (+1.4%YOY) ตามลำดับ เป็นผลจากปัจจัยหนุนด้านโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัว แต่ยังมีปัจจัยกดดันการเติบโตของปริมาณการใช้งานจากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ และยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศที่คาดว่ายังหดตัว

ขณะที่ราคาเหล็กยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยราคาเหล็กทรงยาว และราคาเหล็กทรงแบน จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 20,900 บาท/ตัน (-3.9%YOY) และ 22,700 บาท/ตัน (-5.6%YOY) ตามลำดับ หรือลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 4.8%YOY ตามแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบการผลิตและราคาพลังงาน ประกอบกับปัจจัยกดดันราคาจากการเข้ามาของเหล็กราคาถูกจากจีนที่มีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะส่งผลให้มีความเข้มงวดกับการตรวจสอบมาตรฐานเหล็กมากขึ้น ทั้งที่ถูกผลิตจากโรงงานในประเทศ และสินค้าเหล็กนำเข้า โดยผู้ผลิตเหล็กของไทยมีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้านความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตเหล็กที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า อุตสาหกรรมเหล็กไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามเทรนด์ของโลกที่มุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon neutrality โดยประเทศต่าง ๆ เริ่มบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงประเทศไทยยังมีการกำหนดให้มีการใช้งานเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการก่อสร้างภาครัฐ และความต้องการก่อสร้างอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มขยายตัว เช่น Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) ที่เป็นมาตรฐานอาคารเขียวจากสหรัฐอเมริกา และ TREES ที่เป็นมาตรฐานอาคารเขียวของไทย เป็นแรงกดดันให้อุตสาหกรรมเหล็กต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในไทยได้มีการเริ่มเตรียมความพร้อมบ้างแล้ว เช่น วัดและบันทึกปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในขั้นตอนการผลิต รวมถึงเริ่มมีการจับกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยผู้ผลิตเหล็กที่สามารถปรับกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผู้ค้าเหล็กที่สามารถจำหน่ายสินค้าเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานในห่วงโซ่อุปทาน จะเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาด มีโอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้า และขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะในยุโรปที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดเก็บภาษี CBAM

นอกจากนี้ การจัดทำ Thailand Taxonomy Phase II ซึ่งเป็นการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคการเงินออกแบบ และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นสีเขียว จะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตเหล็กที่มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับการปรับตัวเข้าสู่ Carbon neutrality ได้มากขึ้น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ