
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (นายนพดล คันธมาศ) นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีศักยภาพ ณ กรุงริยาด และ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่วันที่ 17 22 พฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ในการเร่งผลักดันขยายตลาดส่งออกมันสำปะหลังเพื่อยกระดับการค้าและพยุงราคามันสำปะหลังให้กับเกษตรกร ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากตลาดซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดี โดยได้มีการเข้าพบปะหารือกับผู้นำเข้าชั้นนำในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ผลิตอาหารสัตว์ในซาอุดีอาระเบีย ไม่รู้จักและไม่คุ้นเคยกับการใช้มันสำปะหลังในสูตรอาหารสัตว์มาก่อน กรมฯ จึงได้เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนำมันสำปะหลังไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เข้าร่วมคณะเดินทางในครั้งนี้ด้วย โ
ดยได้อธิบายถึงคุณค่าทางโภชนาการของสินค้ามันสำปะหลังไทย และประโยชน์ของสูตรอาหารสัตว์ที่มีมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ส่งผลให้หลายบริษัท ได่แก่ บริษัท Al Sanabel Al Zahabiya Industrial ผู้ผลิตอาหารสัตว์ปีกและสัตว์เคี้ยวเอื้องรายสำคัญ บริษัท Arabian Agricultural Services Company (ARASCO) ผู้ค้าอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีการผลิตและพัฒนาอาหารสัตว์หลายประเภท และ บริษัท United Feeds ผู้นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์รายสำคัญ ได้แสดงความสนใจในการนำเข้ามันสำปะหลังเพื่อทดลองใช้ในสูตรอาหารสัตว์ เบื้องต้นปริมาณกว่า 20,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 136 ล้านบาท โดยจะหารือเพิ่มเติมกับผู้ประกอบการไทยที่ร่วมเดินทางมาเยือนซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้เพื่อพิจารณาราคา วิธีการในการขนส่งและส่งมอบสินค้าโดยตรงต่อไป ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของสินค้ามันสำปะหลังไทยในตลาดตะวันออกกลาง
"กรมฯ จะติดตามผลการเจรจาฯ ซื้อขายในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลให้เกิดการนำเข้าสินค้ามันสำปะหลังจากซาอุดีอาระเบียให้มากที่สุด เนื่องจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพในระดับโลกมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่โดดเด่น จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบทดแทนธัญพืชอื่นในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้อย่างดีอีกด้วย"
นางอารดาฯ กล่าวสรุปว่า ปริมาณการซื้อขายจากการดำเนินกิจกรรมที่ซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการดำเนินกิจกรรมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และพันธกิจของกรมฯ ที่ผลักดันผลผลิตสู่ตลาดเป้าหมาย (Demand Driven) และถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยในการก้าวข้ามกรอบการค้าแบบเดิมและก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพมากขึ้น ตามนโยบายของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์
ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มช่องทางการส่งออกจะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้กับผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าโลก รวมทั้ง ช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกไทยสามารถเชื่อมั่นได้ว่า ผลผลิตของตนจะมีตลาดที่มีศักยภาพสูงรองรับ ซึ่งส่งผลดีกับรายได้ที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะได้รับต่อไป"