SCB ชูสินเชื่อยั่งยืนทะลุ 1.8 แสนลบ.ใน 2 ปีครึ่ง เข็นธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 2, 2025 18:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB ชูสินเชื่อยั่งยืนทะลุ 1.8 แสนลบ.ใน 2 ปีครึ่ง เข็นธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

SCB สนับสนุนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ตามแนวคิด "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" (Live Sustainably) ทุบสถิติการให้สินเชื่อ และการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ภายใต้วงเงินสะสมรวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท ภายใน 2 ปีครึ่ง สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ 1.5 แสนล้านบาท สะท้อนความมุ่งมั่นในฐานะผู้นำด้านการเงินที่ร่วมขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทย เปลี่ยนผ่านสู่แนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลัก ESG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ


นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ [SCB] กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์ "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" (Live Sustainably) ธนาคารได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ บนพื้นฐานของการสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร และเศรษฐกิจไทยในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

สำหรับเป้าหมายในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมเศรษฐกิจและสังคมไทยกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (climate change) ธนาคารได้กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ใน 3 ระยะสำคัญ ประกอบด้วย

1. การสนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ด้วยการให้สินเชื่อ และการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน ภายใต้วงเงินจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ระหว่างปี 66-68

2. ปรับการดำเนินงานภายในองค์กรสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 73

3. ตั้งเป้า Net Zero สำหรับพอร์ตสินเชื่อ และการลงทุนของธนาคาร ภายในปี 93

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ดำเนินการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาโลกร้อน สะท้อนกลยุทธ์และความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัท SCBX ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรก และแห่งเดียวของไทย ที่ผ่านการรับรองการตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายใต้มาตรฐาน Science-Based Targets Initiative: SBTi ในช่วงปลายปีที่แล้ว โดยมาตรฐาน SBTi เป็นมาตรฐานสากลที่อยู่บนพื้นฐานหลักการวิทยาศาสตร์ที่โปร่งใส ชัดเจน และตรวจสอบได้ และได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับโลกจำนวนมากกว่า 8,000 แห่งเข้าเป็นสมาชิก

สำหรับความสำเร็จในการเป็นผู้นำของการสนับสนุนวงเงินเพื่อความยั่งยืนให้กับลูกค้าในทุกกลุ่มในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา สะท้อนแผนการดำเนินการของธนาคารใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. การกำหนดกลยุทธ์การลดคาร์บอนในภาคธุรกิจสำคัญ (Sectoral Decarbonization Strategies) ซึ่งระบุถึงโอกาส ความท้าทาย และแนวทางการสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้า ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Conglomerate & Corporate) ธุรกิจ SME จนถึงรายย่อย ให้เหมาะสมกับบริบทของลูกค้าในภาคธุรกิจต่างๆ

โดยในเบื้องต้น ธนาคารได้มุ่งเป้า 4 อุตสาหกรรมหลัก ที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย Net Zero ประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า & ระบบนิเวศ และอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ซึ่งทั้ง 4 อุตสาหกรรมนี้ เป็น Top 4 ที่มีสัดส่วนของยอดวงเงิน เพื่อความยั่งยืนของธนาคารลดหลั่นตามลำดับในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา

2. การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนของลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยผสมผสานการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการทางการเงินของลูกค้าที่มีความหลากหลายในแต่ละภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าในลักษณะ win-win ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ Sustainability-Linked Loan และ Sustainability-Linked Bond ที่ปรับอัตราดอกเบี้ยตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจเร่งขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

3. บทบาทการเป็นพาร์ตเนอร์ด้านความยั่งยืนที่แท้จริงให้กับลูกค้า ซึ่งมากกว่าการสนับสนุนด้านการเงิน แต่หมายรวมการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึง pain points ของลูกค้าแต่ละกลุ่มในการยกระดับด้านความยั่งยืน ทั้งนี้ ธนาคารได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การให้ความรู้ ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะด้าน technical solutions ที่สอดคล้อง และเหมาะสมกับบริบทของลูกค้า

"ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ จะเป็นทั้งความเสี่ยง และโอกาสของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ธนาคารไทยพาณิชย์ มีความตั้งใจที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินไทย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของทั้งลูกค้าภาคธุรกิจ และลูกค้ารายย่อย เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสของการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย ภายใต้สังคมคาร์บอนต่ำของโลกในอนาคต โดยยึดมั่นในหลัก "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" ในการดำเนินการทั้งในระดับองค์กร ลูกค้า และสังคมไทยโดยรวม เพื่ออนาคตที่มั่นคง แข็งแรง และยั่งยืนของประเทศ" นายกฤษณ์ กล่าว



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ