"ไทยเที่ยวไทย" ปีนี้โตแผ่ว 2.2% ตลาดในปท.ปัจจัยท้าทายสูง แม้รัฐเข็น "คนละครึ่ง"

ข่าวท่องเที่ยว Friday July 4, 2025 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไทยเที่ยวไทย ปี 68 โตแผ่ว 2.2% แม้โครงการ "เที่ยวไทยคนละครึ่ง" เป็นปัจจัยบวกช่วง Low Season เทรนด์คนไทยเที่ยวเมืองรองมากขึ้น แต่ตลาดไทยเที่ยวไทยยังเผชิญความท้าทายสูง จากเศรษฐกิจในประเทศชะลอ, การเมืองไม่แน่นอน, ภัยธรรมชาติ รวมถึงโปรเที่ยวต่างประเทศราคายั่วใจ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ครึ่งแรกของปี 68 การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย โตชะลอลง คาดว่าจะมีจำนวน 101 ล้านคน-ครั้ง หรือโตประมาณ 2.3% (YoY) ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวจากคนไทยเที่ยวในประเทศ มีมูลค่า 574,426 ล้านบาท เติบโต 3.5% (YoY) เนื่องจากตลาดเผชิญปัจจัยลบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว คนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ และกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มยังอ่อนแอ โดยบางจังหวัด พบว่าคนไทยเดินทางท่องเที่ยวลดลง อาทิ กรุงเทพฯ กระบี่ อยุธยา และจันทบุรี

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 68 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ น่าจะยังเติบโตได้ แต่ชะลอลงมาอยู่ที่ 1.4% (YoY) ตลาดมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่มีอยู่ และโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง โดยรัฐบาลช่วยจ่ายค่าโรงแรม และที่พัก รวมถึงคูปองดิจิทัลเพื่อใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมของตลาดยังมีปัจจัยลบมากขึ้น อาทิ

- เศรษฐกิจไทยมีทิศทางชะลอตัว และปัจจัยการเมืองในประเทศ ฉุดความเชื่อมั่น และรายได้ของผู้บริโภค

- สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน อาจกระทบการเดินทางท่องเที่ยว

- คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศที่สะดวกขึ้นจากมาตรการวีซ่าฟรี รวมถึงการทำตลาดของบริษัทนำเที่ยว ที่ทำให้การท่องเที่ยวไปยังบางประเทศคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการเที่ยวในประเทศ อาทิ แพคเกจท่องเที่ยว หรือ "โปรไฟไหม้" ไปเกาหลีใต้ 4 วัน 2 คืน ราคาต่ำสุดเฉลี่ย 6,000 บาท หรือไปเวียดนาม ราคาต่ำสุดเฉลี่ย 7,000 บาท

อย่างไรก็ดี ทั้งปี 68 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศ จะมีจำนวน 205 ล้านคน-ครั้ง หรือเติบโต 2.2% จากปีก่อน แต่เป็นการเติบโตที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ โดยจังหวัดท่องเที่ยวรอง (เมืองน่าเที่ยว) ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

ขณะที่เทรนด์คนไทยเที่ยวเมืองรองหรือเมืองน่าเที่ยว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมาจากหลายปัจจัย อาทิ ความต้องการหลีกเลี่ยงความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยว การมองหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ การรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวจากสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงศาสนา


  • เทรนด์ "เที่ยวเมืองรอง" แนวโน้มดี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสัดส่วนคนไทยเที่ยวเมืองรองในปี 68 จะเพิ่มขึ้นเป็น 41.4% จากในช่วง 5 เดือนแรกปี 68 คนไทยเที่ยวเมืองรองมีสัดส่วนอยู่ที่ 41.3% และโตเร่งขึ้นกว่า 32.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 ก่อนโควิด-19 โดยพบว่าในหลายจังหวัดเมืองรอง มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยสูงกว่า 2 ล้านคน อาทิ สุพรรณบุรี เชียงราย สมุทรสงคราม อุบลราชธานี ซึ่งสูงกว่าหลายจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น สงขลา คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยว มีจำนวนประมาณ 1.4 ล้านคน ขณะที่พังงา คนไทยเดินทางไปเที่ยวมีจำนวนเพียง 6.5 แสนคน

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ท่องเที่ยวเมืองรองยังน้อย โดยอยู่ที่ประมาณ 28% เมื่อเทียบกับรายได้จากเมืองท่องเที่ยวหลัก ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 72% ของรายได้จากไทยเที่ยวไทยทั้งหมด

สำหรับการใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศ คาดว่า ในปี 68 จะมีมูลค่า 1.14 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2% จากปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,100 บาท/คน/ครั้ง ยังต่ำกว่าปี 2562 (ก่อนโควิด-19)

ทั้งนี้ การใช้จ่ายต่อคนต่อครั้งที่ยังไม่ฟื้นตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กระทบการใช้จ่ายระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ประกอบกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนไป โดยคนไทยมากกว่าครึ่ง (ประมาณ 51% ของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยเที่ยวในประเทศทั้งหมด) นิยมเดินทางแบบไปเช้า-เย็นกลับ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เพิ่มขึ้น

รวมถึงคนไทยเที่ยวเมืองรองมีสัดส่วนมากขึ้น แต่การใช้จ่ายในเมืองท่องเที่ยวรองเฉลี่ยอยู่ที่ 2,800 บาท/คน/ครั้ง ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในเมืองท่องเที่ยวหลักที่เฉลี่ยที่ประมาณ 5,000 บาท/คน/ครั้ง โดยค่าใช้จ่ายในเมืองท่องเที่ยวรองที่ต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากราคาค่าบริการท่องเที่ยวที่ไม่สูง อาทิ ค่าบริการที่พักระดับ 4 ดาว เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,850 บาทต่อคืน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ หรือภูเก็ตอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทต่อคืน รวมถึงค่าบริการอาหาร และของที่ระลึกที่เฉลี่ยถูกกว่า



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ