"พิพัฒน์" คาดเจรจาภาษีสหรัฐ หวัง win-win ยาก แนะ 5 ทางออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 8, 2025 08:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) โพสต์เฟซบุ๊กกรณีสหรัฐฯ ส่งจดหมายแจ้งไทยว่าจะโดนภาษี 36% กับสินค้าทุกชนิดภายใน 1 ส.ค.นี้ เหมือนเป็นการบอกว่า เขายังไม่พอใจกับการเจรจา และเครื่องราชบรรณาการที่เอามาให้ยังไม่ดีพอ นี่คือจดหมายปฏิเสธข้อเสนออย่างเป็นทางการ แต่ยังเปิดให้เจรจากันได้ต่อ

นี่คงเป็นสิ่งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เรียกว่า the art of the deal

1. เจ็บมากกว่ายอดส่งออกหาย

ปัญหาคือสหรัฐอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเราในการเจรจา เพราะเราพึ่งพาสหรัฐมากกว่าสหรัฐพึ่งพาเรา

- ส่งออก-สหรัฐฯ รับราว 18 % ของมูลค่าส่งออกไทย (กว่า 55 พันล้านดอลลาร์) ถ้าโดนภาษี 36 % คู่แข่งอย่างเวียดนาม-เม็กซิโกพร้อมเสียบ คำสั่งซื้ออาจหายทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคส์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง

- ภาคการผลิต ที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว อาจโดนซ้ำเติม แรงงานเสี่ยงโดนเลิกจ้าง หรือต้องย้ายสายการผลิตไปประเทศภาษีต่ำ

- เสน่ห์ FDI หาย นักลงทุนคงถามตรง ๆ ว่า "ตั้งโรงงานไทยแล้วต้องโดนภาษี 36 % ทำไมไม่ไปเวียดนาม?" เงินลงทุนเทคโนโลยี EV-AI อาจไหลออกตั้งแต่ยังไม่เปิดสายการผลิต

2. Tradeoff ที่ไม่ง่ายเลย

เรากำลังโดนบังคับให้เลือก (trade off) ระหว่างภาคส่งออกซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย กับเปิดตลาดให้สหรัฐเพิ่ม ซึ่งอุตสาหกรรมที่เราปกป้องมากที่สุดทั้งภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เช่น quota และ import bans) คือภาคเกษตร แม้มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจไม่มาก แต่จ้างงานจำนวนมาก และมีผลต่อธุรกิจใหญ่เล็กมหาศาล การเปิดตลาดคงกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมากแน่ ๆ ส่วนอีกเงื่อนไขสำคัญ คือการป้องกันสินค้าจีนสวมสิทธิ์ ซึ่งอาจจะทำให้กระทบความสัมพันธ์กับจีน

3. การเมืองในบ้าน-ยากกว่าเจรจานอกบ้าน

ในภาวะที่การเมืองขาดเอกภาพ และเสถียรภาพ การทำงานสามกระทรวงหลักอยู่คนละพรรค คำถามคือใครจะเป็นคนเคาะ และจะเคาะได้หรือไม่ ยังไม่นับว่าบางข้อเสนออาจจะผ่านสภาอีก Internal negotiations อาจจะยากกว่า external negotiation เสียอีก

เราจึงมีกลไกในการพิจารณาพูดคุยโดยมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน ไม่งั้นมีปัญหาแน่นอน

4. แล้วเราควรต้องทำอย่างไร

ในเมื่อการเจรจาแบบ win-win น่าจะเป็นไปได้ยากในกรณีนี้ เราอาจจะต้องหาทาง give and take และพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบด้าน และหาทางชดเชยผลกระทบ

- เข้าใจสิ่งที่สหรัฐต้องการก่อน เข้าใจว่าสหรัฐต้องการให้เราเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ ลดภาษีนำเข้า ยกเลิก non tariff barrier และจัดการกับเรื่องสินค้าสวมสิทธิ์ ซึ่งเราคงต้องพิจารณาผลกระทบของแต่ละเรื่องอย่างเข้าใจจริง ๆ และเปรียบเทียบต้นทุนแต่ละทางเลือก และคงต้องหาทางออกเรื่อง transshipment แบบเอาจริง เงื่อนไขคืออะไร ทำได้จริงหรือไม่

- พิจารณาหาทางเปิดเสรีภาคเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีมาตรการลดผลกระทบ แต่วิธีชดเชยความเสียหายแบบเข้าใจจริง ๆ โดยต้องสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจประเด็น และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาทางเลือก และพูดคุย

- เรายังคงต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ดึงลงทุนเทคโนโลยี-มูลค่าสูง

สิทธิประโยชน์ R&D, เครดิตภาษี ให้ EV parts, AI hardware, data center มาตั้งฐานในไทย

Upskill แรงงานสู่ทักษะดิจิทัล-หุ่นยนต์ เพิ่มค่าแรงเฉลี่ยและผลิตภาพ

- War-Room เสียงเดียว

รวมคลัง-พาณิชย์-เกษตร-เอกชน ตัดสินรวดเร็ว ส่งสัญญาณชัดแก่สหรัฐฯ และนักลงทุนว่าประเทศ "เอาจริง"

- เร่งกระจายตลาดส่งออก

ใช้ RCEP, CPTPP, GCC เร่งทำ FTA กับกลุ่มประเทศใหญ่อย่าง EU เพื่อกระจายตลาดจากสหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ