รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ดีเดย์ 1 ต.ค. นี้ เปิดลงทะเบียนผ่านแอป "ทางรัฐ" ในส.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 8, 2025 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ในราคาไม่เกิน "20 บาทตลอดสาย " ตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดราคาค่าครองชีพในทุกมติ ให้กับประชาชน เช่น การปรับราคาค่าครองชีพ ค่าสาธารณูปโภค และค่าพลังงานต่าง ๆ

สำหรับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จัดอยู่ในนโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลให้คำมั่นไว้กับประชาชน ที่จะเร่งดำเนินการ ซึ่งมั่นใจว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีรูปแบบสัญญาสัมปทานและสัญญาจ้างเดินรถที่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางธุรกิจแตกต่างกัน จึงได้กำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนตามเงื่อนไขที่กำหนดบนแอปพลิเคชั่น "ทางรัฐ" เพื่อรองรับการใช้งานตามนโยบาย

โดยเงื่อนไขการลงทะเบียนนั้น ก็เพื่อยืนยันตัวบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก และสามารถใช้ผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่เคยลงทะเบียนไว้) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้าผ่านแอปฯ "ทางรัฐ" ทั้งนี้ บัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียนจะได้สิทธิ์โดยอัตโนมัติ เมื่อใช้งานหลังจากเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 68 โดยจะครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียว, สีทอง, สีเหลือง, สีชมพู, สีน้ำเงิน, สายสีม่วง, สายสีแดง และสายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL)

ทั้งนี้ การใช้บริการรูปแบบบัตร Rabbit Card (บัตรเติมเงิน) จะใช้ได้กับสายสีเขียว, สีทอง, เหลือง, ชมพู ขณะที่บัตร EMV Contactless (หรือบัตรเครดิต Visa/Mastercard) สามารถใช้กับ 6 สาย คือ สายสีแดง, น้ำเงิน, ม่วง, ชมพู, เหลือง, ARL (ไม่รวมสีทองและสีเขียว) โดยในอนาคตจะมีการเปิดระบบสแกน QR Code ในมือถือแทนการใช้บัตร เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน

มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนี้ จะครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 279.84 กิโลเมตร 194 สถานี สำหรับแนวทางการชดเชยรายได้ค่าโดยสารจากการดำเนินมาตรการ จะมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หรือแหล่งเงินอื่นที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ได้ประมาณการผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วง 1 ปี ในเชิงปริมาณและมูลค่าจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้รับผลประโยชน์ จะประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ ประเมินจากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ 2. ด้านสังคม ประเมินจากค่าความสุข และ การลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ประเมินจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทั้ง 3 ด้าน ประเมินเป็นประโยชน์ในการประหยัดงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นายจิรายุ กล่าวว่า ภายในช่วงเดือน ส.ค. 68 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" และภายใน 1 ต.ค. 68 จะเริ่มดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สูงสุด 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล และภายหลังจากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้โครงสร้างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"สำหรับมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะของรัฐเพื่อเดินทางถึงปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้า ที่มีความปลอดภัย สะดวก ตรงเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในราคาค่าโดยสารที่เข้าถึงได้ตามนโยบายของรัฐบาล เกิดการใช้บริการในระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งความคุ้มค่าจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ และเพิ่มมูลค่าความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เป็นส่วนสนับสนุนการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการใช้พลังงานน้ำมัน ลดปริมาณมลพิษจากการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมให้คุณภาพอากาศในพื้นที่ตามแนวสายทางและข้างเคียงให้ดีขึ้น" นายจิรายุ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ