มธ.เตือนอย่าลดภาษี 0% แบบเวียดนาม แนะไทยเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐ เชื่อเหลือ 25-28% ยังสู้ไหว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 9, 2025 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มธ.เตือนอย่าลดภาษี 0% แบบเวียดนาม แนะไทยเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐ เชื่อเหลือ 25-28% ยังสู้ไหว

นักวิชาการธรรมศาสตร์ แนะจัดทำข้อเสนอเจรจาภาษีทรัมป์ "ไทย" ไม่ต้องลดภาษีนำเข้า 0% แบบเวียดนาม แต่ให้เพิ่มปริมาณสินค้าที่จะสั่งซื้อจากสหรัฐฯ แทน เชื่อหากต่อรองภาษีสหรัฐฯ เหลือ 25-28% ยังพอแข่งขันได้ ชี้ไม่ว่าผลเจรจาจะบวกหรือลบ รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการเยียวยาผู้รับผลกระทบ วางแผนหาตลาดใหม่ทดแทน และปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ

นางจุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา (ICDS) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า การที่สหรัฐอเมริกาประกาศแจ้งอัตราภาษีนำเข้าที่จะเรียกเก็บจากสินค้าไทยอยู่ที่ 36% สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มากกว่าเวียดนาม และมาเลเซีย นั้น มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้รับข้อเสนอเพิ่มเติมที่ไทยเพิ่งส่งไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค.68 ที่ผ่านมา

มธ.เตือนอย่าลดภาษี 0% แบบเวียดนาม แนะไทยเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐ เชื่อเหลือ 25-28% ยังสู้ไหว

ส่วนตัวเชื่อว่าหากสหรัฐฯ เห็นข้อเสนอดังกล่าว อาจพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าลงมา เพราะข้อเสนอเหล่านั้นให้สิทธิประโยชน์แก่สหรัฐฯ มากกว่าครั้งแรกค่อนข้างมาก เช่น การเสนอเก็บภาษี 0% ในสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ กว่าพันรายการรวมถึงสินค้าเกษตร และมีการให้กรอบเวลาลดการเกินดุลการค้าที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์และประเมินข้อมูลการค้าและการลงทุนเชิงลึก และสภาวะความไม่แน่นอนของนโยบายและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แล้ว ส่วนตัวคิดว่าอัตราภาษีที่จะทำให้ไทยยังคงรักษาระดับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม และมาเลเซียได้ จะอยู่ที่ 25-28% ซึ่งถือเป็นจุดที่เหมาะสมและยอมรับได้

นางจุฑาทิพย์ กล่าวว่า จนกว่าจะถึงวันที่ 1 ส.ค.68 ซึ่งเป็นวันที่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ยังพอมีระยะเวลาในการเจรจาต่อรอง โดยหากสหรัฐฯ ได้พิจารณาข้อเสนอที่ส่งไปเพิ่มเติมแล้ว แต่ยังคงอัตราภาษีนำเข้าไว้ตามเดิม หรือลดลงแต่ยังมากกว่า 25-28% ส่วนตัวเห็นว่า ไทยคงต้องยื่นข้อเสนอเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ควรใช้วิธีการปรับลดกำแพงภาษีนำเข้าของไทยให้สหรัฐฯ เหลือเพียง 0% ทุกรายการสินค้า แบบที่เวียดนามทำ

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการลดภาษีเหลือ 0% ทุกรายการระหว่างไทยกับเวียดนาม จะพบว่าเวียดนามจะได้รับผกระทบน้อยกว่าไทย เนื่องจากเวียดนามมีประสบการณ์เปิดการค้าเสรีให้สหภาพยุโรป (EU) และประเทศอื่น ๆ มาแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าเกษตร ขณะที่ไทยยังมีการใช้นโยบายภาษี และมิใช่ภาษีค่อนข้างเข้มข้น จึงเกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยที่จะปรับตัวไม่ทัน

ดังนั้นจึงเสนอว่า ไทยควรใช้วิธีการเสนอเพิ่มจำนวนปริมาณสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นการทดแทนให้มากขึ้น เช่น การเพิ่มปริมาณนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ ก๊าซธรรมชาติ หรือการจัดซื้อเครื่องบิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ไม่ว่าผลการพิจารณาปรับลดภาษีของสหรัฐฯ จะเป็นไปอย่างที่ต้องการหรือไม่ รัฐบาลไทยก็ควรจะต้องเริ่มต้นวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเยียวยาคนไทยผู้ได้รับผลกระทบจากการลดภาษีให้กับสหรัฐฯ เช่นผู้ประกอบการธุรกิจ หรือเกษตรกร และรัฐบาลจะต้องเร่งหาตลาดส่งออกให้มีความหลากหลาย (diversity) มากขึ้น ไม่พึ่งพาสหรัฐฯ มากจนเกินไปแบบที่ผ่านมา เพื่อป้องกันความไม่แน่นอนทางนโยบายซึ่งอาจจะเกิดการกลับไปกลับมาได้อีกเสมอ

"ตลาดอาเซียน แม้จะมีสินค้าคล้ายกันหลายอย่าง ทว่าแต่ละที่ก็มีความ Specialize เป็นของตัวเอง ที่ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันได้ หรือจะเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ควรจะเพิ่มอัตราการส่งออกไปมากขึ้น หลังจากที่ลดน้อยลงไปมากก่อนหน้านี้ สำคัญที่สุด คือการเร่งทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ร่วมกับ EU ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปได้มากขึ้น ประการสุดท้าย คือ ควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปประเทศ ทั้งเรื่องโครงสร้างการผลิตและการส่งออก โครงสร้างภาษีและไม่ใช่ภาษีอย่างจริงจัง รวมไปถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการไทย" นางจุฑาทิพย์ กล่าว

ด้านนายอาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา (ICDS) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นอกจากเหนือผลการเจรจาและมาตรการเยียวยา ที่รัฐบาลต้องดำเนินการในทันทีแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือไทยควรใช้จังหวะนี้กลับมาทบทวนและแก้ปมปัญหาภายในประเทศ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมิติการลงทุนจากต่างชาติในไทย เช่น ปัญหาการตกเป็นเหยื่อนอมินีของชาวต่างชาติ เช่น การให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เข้าข่ายเป็นนอมินี และมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

ส่วนตัวมองว่าปัญหาอาจไม่ใช่แค่เรื่องของนอมินี แต่ต้องหันกลับมาดูว่าการประกอบธุรกิจโดยนักลงทุนต่างชาตินั้น ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด เกิดการจ้างงาน หรือการลงทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ฯลฯ ตัวอย่างเช่นการเข้ามาของผู้ประกอบการจีนในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องพิจารณา คื อลักษณะการลงทุนของผู้ประกอบการจีนบางส่วนในไทย สร้างผลประโยชน์ให้คนไทยมากน้อยเพียงใด เขากำลังใช้ต้นทุนและความได้เปรียบของตนเอง จนก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทยหรือไม่

หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของปัญหานอมินี ก็ต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะความซับซ้อนหรือความไม่ทันสมัยของกฎหมายหรือไม่ เช่น หากต่างชาติอยากจะเข้ามาดำเนินการให้มีความถูกต้อง มันเป็นเรื่องยากและซับซ้อนหรือไม่ หรือมีปัจจัยที่เอื้อให้นักลงทุนรู้สึกอยากทำตามกระบวนการที่ถูกต้องหรือไม่

นอกจากนี้ ท่ามกลางปัญหาสังคมสูงวัยในไทย ที่ประเทศขาดแคลนคนวัยแรงงาน การห้ามต่างด้าวประกอบกิจการเด็ดขาดตามบัญชี 1 ใน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไข ตามบัญชี 2 และอนุญาตโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ต้องมีผู้ถือหุ้นคนไทยมากกว่าต่างด้าว ตามบัญชี 3 กฎหมายดังกล่าว ควรจะต้องมีการกลับมาทบทวนและปรับปรุงกันใหม่หรือไม่ หรืออาจจะต้องปลดล็อคในบางธุรกิจให้ต่างชาติทำได้มากขึ้น แต่ต้องควบคุม ตรวจสอบ โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้ธุรกิจเหล่านั้นเกิดการลงทุน หรือจ้างงานคนไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และแก้ปัญหานอมินีได้ในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ