สัมมนา S&P-ทริส ชำแหละอนาคตเศรษฐกิจไทย ภาษีสหรัฐฯ-หนี้ครัวเรือน-สังคมสูงอายุ จุดเปราะบางที่ต้องจับตา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 15, 2025 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

S&P Global Ratings และ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ร่วมจัดสัมมนา "Thailand Credit Spotlight 2025: Navigating Global Trade Shifts" เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ แนวโน้มทางธุรกิจ อันดับเครดิตประเทศ ตลอดจนความท้าทายและโอกาสของภาคธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในปัจจุบัน

นายสุรินทร สุนทรสนาน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จะมาจากความไม่แน่นอนทางการค้า โดยกฎกติการะบบการค้าโลกพื้นฐานที่เคยมีจะถูกลดความสำคัญไป อย่างหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation: MFN) ที่ต้องปฏิบัติต่อประเทศอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกันในการให้สิทธิประโยชน์

ความท้าทายต่อมา คือความขัดแย้งแตกแยกของโลก จากการปรับเปลี่ยนขั้วอำนาจ ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศอาจจะไม่ใช้เหตุผลด้านการค้าเท่านั้น แต่ต้องอิงปัญหาและผลกระทบเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การเดินทางสายกลาง ไม่เลือกข้าง เป็นไปได้ยากขึ้น โดยโลกก็ได้เริ่มกระแสของการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) การนำเอากระบวนการผลิตกลับเข้าประเทศ (Reshoring) หรือทำธุรกิจในประเทศมากขึ้น รวมถึงเริ่มหาพันธมิตรในชาติที่ไม่มีความขัดแย้งอย่างชัดเจน ซึ่งสงครามการค้าครั้งนี้คาดเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

ด้านนาย Louis Kuijs หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ S&P Global Ratings เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ในขณะที่ภายในสหรัฐฯ เองนั้น ก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอลง ผนวกกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทั้งคู่เป็นผลกระทบส่วนหนึ่งจากมาตรการภาษีศุลกากร และจะทำให้นโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าเฟดจะสามารถปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วที่สุดคือในสิ้นปีนี้

ส่วนในต่างประเทศ มาตรการภาษีของสหรัฐกำลังส่งผลกระทบในทางลบต่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนและกระตุ้นให้เกิดการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้น ความคาดหวังเกี่ยวกับอัตราภาษีที่สูงและไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ยังคงกดดันเศรษฐกิจของจีนและประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม จีนยังมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงจากการบริโภคในประเทศ รวมถึงจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและการนำเข้าสินค้าที่น้อยลง ซึ่งทั้งสองก็จะเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภูมิภาคอาเซียน ด้วยสินค้าจีนที่อาจทะลักเข้าไปในแต่ละประเทศ

สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังมีอุปสงค์ภายในแต่ละประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาการชะลอตัวในปี 68 และ 69 ได้ในภาพรวม แต่ในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักอย่างประเทศไทย แม้จะได้รับประโยชน์จากการเร่งส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก แต่คาดว่าจะชะลอตัวในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะยังคงมีแนวโน้มเติบโตเร็วเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ และด้วยแนวโน้มเงินเฟ้อที่ไม่สูงนัก ทำให้เชื่อว่าธนาคารกลางในภูมิภาคจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป แต่ประเทศในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์การแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนให้ดี

ขณะที่ประเทศไทย ในระยะกลางถึงยาวมีปัจจัยกดดันเฉพาะตัว จากอายุเฉลี่ยประชากรที่เพิ่มขึ้น แตกต่างกับประเทศอื่นในภูมิภาค ส่วนกรณีอัตราภาษีของสหรัฐฯ คาดว่าผลกระทบอาจจะไม่สาหัสอย่างที่ตลาดคาดไว้ ถ้าหากยังสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งก็ต้องติดตามว่าข้อสรุปภาษีของเวียดนามเป็นผลดีกับประเทศเขาจริงหรือไม่ หรือเป็นการรีบตัดสินใจเกินไป

นาย Kim Eng Tan, Managing Director ทีมการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศและการคลังสาธารณะนานาชาติ ของ S&P Global Ratings กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนได้รับการปรับเพิ่มเครดิตอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยยังรักษาระดับ BBB+ มาตลอด แม้จะเผชิญกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่ทำให้ตลาดกังวล หรือมาตรการภาษี 36% ของสหรัฐฯ แต่ก็เชื่อว่าไทยที่เคยผ่านเหตุการณ์ที่สาหัสและรุนแรงกว่านี้มาแล้ว และยังสามารถรักษาเครดิตนี้ไว้ได้ตลอด 20 ปี

แต่ด้วยการที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ก็อาจจะเป็นความท้าทาย เมื่อความสามารถในการแข่งขันถูกลดลงจากมาตรการภาษีของสหรัฐ และอุปสงค์ภายในประเทศที่ไม่สามารถรองรับกำลังการผลิตได้จากการปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บริโภคส่วนตัว โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประเภทอื่น ๆ ทำให้การเติบโตจะเป็นไปได้อย่างจำกัด

และรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดจำนวนลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย โดยคาดว่าส่วนหนึ่งมาจากกระแสการท่องเที่ยวภายในประเทศจีนเพิ่มขึ้น หนุนโดยตัวเลขเงินเฟ้อจีนที่ไม่ได้สูงเท่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งในทางกลับกัน ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ประชากรจีนเลี่ยงไปเที่ยวต่างประเทศจากค่าใช้จ่ายสูง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายก็สามารถลดแรงกดดันเหล่านี้ลงได้หากภาครัฐสามารถดำเนินการได้อย่างทันสถานการณ์ และถึงแม้สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น เด็กเกิดใหม่ลดลง แต่สุดท้ายตัวเลขพวกนี้ก็ไม่สามารถบ่งบอกถึงคุณภาพของประชากรได้ เพราะการศึกษาของไทยที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนจะช่วยทำให้เกิดงานมูลค่าสูงที่สามารถสร้างรายได้ดี ซึ่งจะช่วยการเติบโตในระยะยาว

ด้านนาย Ivan Tan, Director ทีมการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน จาก S&P Global Ratings เปิดเผยว่า ภาคธนาคารพาณิชย์ของไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าและความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีสหรัฐ โดยปัจจัยท้าทายเชิงโครงสร้างบางประการ ประกอบไปด้วยภาระหนี้ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง

รวมถึงจุดอ่อนที่มีอยู่เดิมในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจากจีน และมาตรการการให้สินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม SME แต่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูสถานะทางการเงินของครัวเรือนและเสริมความสามารถในการแข่งขันของ SME อย่างไรก็ตามมาตรการเชิงนโยบายเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการปรับใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง S&P Global Ratings เชื่อว่าธนาคารไทยมีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้

ทั้งนี้ ธนาคารของไทยส่วนใหญ่มีทุนสำรองด้านเครดิตในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) สูงเกินกว่า 20% และมีอัตราความครอบคลุมของเงินทุนสำรองอยู่ที่ประมาณ 170% ในขณะที่ผลกำไรของธนาคารก็มีเพียงพอที่จะช่วยสนับสนุนเงินทุนสำรองด้วย นอกจากนั้น ธนาคารของไทยก็ได้เริ่มมีการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น อาทิ ในอินโดนีเซีย ที่มีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สูงกว่าไทยมากกว่า 1 เท่าตัว

นางสาว Pauline Tang, Associate Director ทีมการจัดอันดับความน่าเชื่อถือภาคเอกชน ของ S&P Global Ratings กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการค้าในภูมิภาคจะส่งผลแตกต่างกันไปอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละประเทศ โดยบริษัทในเวียดนามและจีนมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดจากการขึ้นภาษีและความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่บริษัทในไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียมีการพึ่งพาตลาด ส่งออกสหรัฐฯ น้อยกว่า แต่ภาคสินค้าโภคภัณฑ์และการผลิตของประเทศเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในระดับสูง ซึ่งทำให้ประเทศดังกล่าวเผชิญกับอุปสงค์ที่อ่อนแอลงทังจากลูกค้าในภูมิภาคและลูกค้าต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากการทุ่มตลาดของผู้ผลิตจีน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ เหล็ก และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SME ที่มีขนาดเล็กกว่าและมีการดำเนินงานที่กระจุกตัวมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การลดภาระหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและภาวะตลาดทุนที่เอื้อต่อการระดมทุนก็ช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิด กับภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ทั้งนี้ ระดับภาระหนี้โดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการเหล่านี้ลดลงอย่างช้า ๆ นับตั้งแต่ช่วงสูงสุดของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารและตลาดทุนได้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีธุรกิจในบางภาคส่วนที่มีภาระหนี้ที่สูงอยู่ เช่น อสังหาริมทรัพย์ก่อสร้าง และบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

และคาดว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่ค่อนข้างต่ำ หรือประมาณ 2.0% กรณี base case แต่ทั้งนี้ ถ้าหากบริษัทขนาดใหญ่ดำเนินการผิดพลาดจนสถานะการเงินติดขัด ก็อาจจะเกิดผลกระทบวงกว้างต่อตัวเลขอัตราการผิดนัดชำระหนี้ได้ เพราะอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างสูง

ด้านนางสุชาดา พันธุ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานจัดอันดับเครดิต ทริสเรทติ้ง คาดว่าการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนในวงจำกัด โดยส่วนใหญ่อยู่ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อาหารแปรรูป (รวมถึงอาหารทะเลและอาหารสัตว์เลี้ยง) ผลิตภัณฑ์จากยางพารา รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของผู้ออกตราสารหนี้ทั้งหมด 225 รายที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้ โดยกลุ่มนี้มีรายได้รวมกันคิดเป็นประมาณ 1 ล้านล้านบาทในปี 67 แต่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงประมาณ 5-6% เท่านั้น และประมาณ 4.4% คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีโดยตรง

ในกรณีที่รัฐบาลไทยยอมยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอาจทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ออกตราสารหนี้ 3 รายในภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีรายได้รวมกันราว 7.6 แสนล้านบาท โดยประมาณ 25% ของรายได้มาจากการจำหน่ายเนื้อหมูและเนื้อไก่ภายในประเทศ แต่บริษัทเหล่านี้มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะรับความเสี่ยงอัตราภาษี 36% ได้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น การชะลอตัวของการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบมากกว่าในระยะสั้นถึงปานกลาง

นาย Mitsuhiro Yamawaki, Deputy CEO and Chief Risk Officer, Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) กล่าวว่า CGIF พิจารณาผลกระทบจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในการประเมินสถานะเครดิตของผู้กู้ และติดตามลูกค้ากลุ่มความเสี่ยงสูงอย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือ ยานยนต์, แผงโซลาร์, เหล็กและอลูมิเนียม รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์, ยา และสินค้าเกษตร ส่วนกลุ่มบริการ, การศึกษา, สาธารณูปโภค, โทรคมนาคม และไอที มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ