หอการค้ามองต่าง! "ภาษีทรัมป์" สร้างโอกาสสินค้าเกษตร-อาหารโตเท่าตัว ฟันธงได้เรทบวกลบ 20%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 17, 2025 20:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวในงานเสวนา "ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก" โดยฟันธงว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้าแก่ประเทศในภูมิภาคในอัตรา 20% +/- โดยเชื่อมั่นว่าข้อเสนอของประเทศไทยที่ให้แก่สหรัฐฯ มีเหตุมีผลและสามารถปฏิบัติได้ ซึ่งหากประเทศไทยและคู่แข่งได้อัตราภาษีในเรทใกล้เคียงกันนี้ ประเทศไทยจะไม่เสียเปรียบ และมองในแง่ดีว่าไทยจะสามารถเพิ่มการค้ากับสหรัฐได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และอาหาร

"เชื่อว่าทรัมป์เป็นนักธุรกิจมืออาชีพ สงครามการค้าวันนี้เป็นสงครามการค้าของโลก ไม่ใช่การทำร้ายกัน สหรัฐฯ ต้องการให้เราซื้อสินค้าของเขามากขึ้น ดังนั้นเรทที่ดีที่สุดที่อาเซียนจะได้คือ 20%+/- เท่ากันทุกประเทศ" นายชนินทร์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เมื่อปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านล้านบาท แม้จะมีปัญหาโควิด และปัญหาเศรษฐกิจ แต่การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทยยังสามารถเติบโตได้ ดังนั้นขอให้รัฐบาลตั้งเป้าหมายการเติบโตเพิ่มอีกเท่าตัวหรือ 4 ล้านล้านบาท ภายใน 7 ปี เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำได้

"สหรัฐฯ จะผลักดันให้ไทยเปิดเสรีนำเข้าวัตถุดิบที่ดีที่สุด ซึ่งไทยมีศักยภาพไม่แพ้ใครในการผลิตอาหาร วันนี้เราค้าขายกับสหรัฐฯ ประมาณ 6,000 ล้านเหรียญ ถ้าเปิดตลาดจริง ๆ น่าจะไปแตะถึง 10,000 ล้านเหรียญภายใน 5 ปีได้ ซึ่งวัตถุดิบ 10 item ที่สหรัฐฯ ส่งเข้าไทย ไม่ใช่สินค้าสำเร็จรูป แต่เป็นวัตถุดิบที่ถูกและดีด้วย" รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะให้ความสำคัญกับการปกป้องเกษตรกรรมในประเทศนั้น แต่นายชนินทร์เชื่อว่า การปกป้องเกษตรกรรมในประเทศยังดำเนินไปได้ ซึ่งเมื่อโรงงานผลิตอาหารในประเทศของไทย มี productivity และมี economy of scale แล้วขายได้มากขึ้น ผลิตได้มากขึ้น นำต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาถูกจากต่างประเทศ แล้วซื้อวัตถุดิบที่แพงขึ้นในประเทศมา balance ต้นทุนให้ถูกลงได้ ทำได้แน่นอน ไม่กระทบกับภาคเกษตรกรรมในประเทศ

"ขอให้มั่นใจว่าหอการค้าฯ ซับพอร์ตทีมไทยแลนด์มาก และมีแผนการที่ชัดเจนว่าเมื่อวัตถุดิบดังกล่าวเข้ามาประเทศแล้ว จะไม่กระทบ แต่จะสร้างรายได้ให้มากขึ้นตาม target ที่บอกไปทั้งในภาคเกษตรและอาหาร...5 ปีที่แล้วเราทำได้ 1 ล้านล้านบาท ปีนี้น่าจะแตะ 2 ล้านล้านบาท อยากให้รัฐบาล set target ไปเลย ส่งออกสินค้าเกษตและอาหาร 4 ล้านล้านบาทภายใน 7 ปี เราทำได้ เงินที่จะเยียวยานี้ ขอ funding สัก 3-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในการ research innovation ต่าง ๆ" นายชนินทร์ กล่าว

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวยืนยันว่า การเจรจาของทีมไทยแลนด์ในเรื่องมาตรการภาษีกับสหรัฐฯ นั้น จะเป็นการเจรจาเพื่อให้ได้ดีลที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย โดยยึดหลักสมดุล พร้อมย้ำว่าผู้ชนะ ไม่ได้หมายถึงประเทศได้ภาษีในอัตราที่ต่ำสุด แต่ผู้ชนะ หมายถึงประเทศที่ได้ดีลที่ดีที่สุด มีความสมดุลมากที่สุด โดยดีลที่ดีที่สุด คือต้องดูว่าประเทศได้อะไร และประเทศเสียอะไร ซึ่งประเทศคงไม่ได้หมายถึงคนกลุ่มเดียว แต่ต้องหมายถึงคนทั้งประเทศ ทั้งผู้ส่งออก ภาคเกษตรกร ปศุสัตว์และทุกภาค ซึ่งต้องดูองค์รวมของการเจรจา เพราะเรื่องภาษีต้องชั่งน้ำหนักใน 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนแรกผู้ส่งออกที่ถูกเรียกเก็บภาษี และส่วนที่สอง ประเทศต้องเอาอะไรไปแลกกับอัตราภาษีที่ได้มา ซึ่งทั้งสองฝั่งนี้ต้อง balance และต้องหาจุดสมดุลให้กับประเทศ

"วิธีดูว่าดีลไหนดีที่สุด เราต้องมอง 2 มุม ประเทศนั้นเสียอะไรบ้าง และประเทศนั้นได้อะไรบ้าง อยากให้ความมั่นใจว่าทีมไทยแลนด์ นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง จะทำให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งประเทศ" รมช.คลัง กล่าว

รมช.คลัง ยังกล่าวถึงแนวทางรับมือจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ นั้น รัฐบาลได้เตรียมทั้งมาตรการการเงิน และมาตรการการคลังไว้ ซึ่งในส่วนของภาคส่งออกที่จะได้รับผลกระทบนั้น รัฐบาลจะดูแลทั้ง 3 ระดับที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ ผู้ส่งออก, Supply Chain และแรงงาน

สำหรับมาตรการทางการเงินนั้น กระทรวงการคลังได้เตรียม Soft Loan ไว้ 2 แสนล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน เพื่อปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารต่าง ๆ เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อแก่ผู้ประกอบการ ขณะที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศ (EXIM Bank) นั้น ในสินเชื่อเดิมก็จะช่วยเหลือด้วยการพักหนี้ และลดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ ส่วนสินเชื่อใหม่ ก็จะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อออกไปหาตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งการปรับโครงสร้างการส่งออก ส่วนมาตรการด้านการคลัง รัฐบาลมีงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งได้อนุมัติไปกับการทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ 1.15 แสนล้านบาท ทั้งคมนาคม การชลประทาน ช่วยให้เกิดการจ้างงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจได้

ส่วนการหาตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น ล่าสุด รัฐบาลเตรียมเดินหน้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ศูนย์การทางการเงิน (Financial Hub) และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก โดยรัฐบาลมุ่งหวังจะดำเนินการใน 3 สิ่งเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ คือ 1. การให้ผลตอบแทนลงทุนสูง 2.การทำธุรกิจที่ง่าย และ 3.กฎหมายที่เอื้อต่อการอำนวยความสะดวกในการลงทุน

"เงินและทุนต่างวิ่งเข้าหาใน 2-3 สิ่ง คือ ผลตอบแทนสูง ทำธุรกิจง่าย และกฎหมายเอื้ เรากำลังทำ 3 สิ่งนี้ใน Financial Hub โดยการร่างกฎหมายใหม่ สร้างองค์กรขึ้นมากำกับดูแลและสนับสนุน Financial Hub ทั้งระบบ"

โดยอีกส่วนที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ คือ การแก้หนี้ทั้งในระบบ และนอกระบบ ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้หนี้ก้อนใหญ่ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะดึงศักยภาพคนไทยที่ซ่อนตัวอยู่ออกมาผ่านการผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อช่วยสร้างเม็ดเงินใหม่ให้กับประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ