(เพิ่มเติม) นายกฯ ตั้ง คกก. 2 ชุดดูแลการฟื้นฟูและวางระบบบริหารน้ำระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 8, 2011 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงมาตรการเชิงยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) มีนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน และมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นรองประธาน

นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยมีตนเองเป็นประธาน แต่ได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ เป็นประธานแทน และมี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูประเทศเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1.ระยะเฉพาะหน้า คือ การกู้ภัยมี พล.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) เป็นประธาน มีระยะเวลาในการดำเนินการ 2-3 เดือน ซึ่งจะดำเนินการผ่านทางโครงสร้าง ศปภ.ที่รับภารกิจอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วม รับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือการดูแลรักษาพยาบาล รวมถึงการจัดหาที่อยู่ชั่วคราวให้กับผุ้ประสบภัย

2. ระยะสั้น มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ระยะเวลาดำเนินการภายใน 1 ปี คือ การซ่อมแซม เป็นการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูให้ระบบต่างๆ สามารถกลับมาดำเนินการได้เหมือนเดิม รวมถึงจะมีการเยียวยาให้เงินช่วยเหลือ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ พร้อมทั้งต้องมีการบูรณาการในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การซ่อมแซมถนน

3. ระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความั่งคั่งและความมั่นคงของประเทศให้กลับคืนมา โดยจะต้องไม่ให้เหตุการณ์ฝันร้ายนี้กลับมาสู่ประเทศไทยอีก พร้อมให้มีการดูแลเยียวยาจิตใจสำหรับผู้ประบสบภัยด้วย โดยมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น 2 ชุด คือ กยอ. ที่มีนายวีรพงษ์ เป็นประธาน จะดูในภาพรวมของประเทศทั้งหมด จะดูว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเติบโตได้อย่างไรในอนาคตข้างหน้า รวมถึงจะมีการวางระเบียบการพัฒนาสังคม รวมถึงการวางแผนในเรื่องสภาวะภูมิประเทศ ผังเมือง โครงสร้างพื้นฐานของน้ำ และสิ่งสำคัญ จะดูในเรื่องการหาแหล่งเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะมีการทำงานร่วมกับ กยน.ที่จะทำหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจะต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องการวางแนวทางในเรื่องการสร้างแนวคันกั้นน้ำที่ได้มาตรฐานและมีความแข็งแรง รวมถึงมีระบบสูบน้ำที่ดีเพียงพอ โดยนายกฯ หวังว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะมีส่วนช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา รวมถึงการสร้างประเทศและพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า ในส่วนคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดที่ไม่ได้เชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าร่วมด้วยว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถทำงานในการฟื้นฟูในระยะเวลา 1 ปีได้เต็มที่ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะทำร่างมาสเตอร์แพลน เมื่อกำหนดมาสเตอร์แพลนแล้วก็จะมีการทำงานประสานกับทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึง กทม.อยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ