ธปท.แถลงเศรษฐกิจ พ.ย.หดตัวจากผลกระทบอุทกภัย-การชะลดตัวศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือน พ.ย.54 หดตัวจากปัญหาอุทกภัยทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการส่งออก การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ขณะเดียวกัน การผลิตและการส่งออกในหลายอุตสาหกรรมยังได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

ธปท.ระบุว่า สถานการณ์อุทกภัยส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้นในเดือนนี้ ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งด้านผลผลิตและด้านราคา โดยผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 7.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตข้าวที่ได้รับความเสียหายในพื้นที่ภาคกลาง ขณะที่ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันขยายตัวดีต่อเนื่องจากพื้นที่ให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาสินค้าเกษตรหดตัวตามราคายางพาราเป็นสำคัญจากอุปสงค์ที่ลดลงจากการหยุดผลิตของโรงงานรถยนต์หลายแห่ง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 8.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสินค้าจากการหยุดผลิตของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนและปัญหาการขนส่งสินค้า สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 48.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยานยนต์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศยังคงชะลอการเดินทางมาไทยในพื้นที่ประสบอุทกภัย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศลดลงเหลือ 1.2 ล้านคน หดตัวร้อยละ 17.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการลดลงของนักท่องเที่ยวจากอาเซียน จีน อินเดีย และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากการที่ผู้ประสบภัยย้ายที่พักชั่วคราว

อย่างไรก็ดี ในเดือน ธ.ค.เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.จากการเพิ่มขึ้นของจำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ด้านการผลิตที่ลดลงมากในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ส่งผลให้การส่งออกในเดือนนี้หดตัว โดยมีมูลค่าส่งออก 15.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 13.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวของการส่งออกสินค้ายานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และข้าว รวมถึงการส่งออกคอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญอื่นๆ อาทิการส่งออกเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และอาหารพร้อมปรุง เริ่มขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ การลดลงของกิจกรรมการผลิตและอุทกภัยที่ขยายวงกว้างทำให้มีสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้โรงงานนอกพื้นที่ประสบภัยจะเพิ่มการผลิตได้ แต่ไม่สามารถขนส่งสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศได้ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ 1.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวของเครื่องชี้ในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มและปริมาณการจำหน่ายยานยนต์

การลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากปัญหาในภาคการผลิต ซึ่งทำให้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หยุดชะงัก สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงในเกือบทุกกลุ่มสินค้า รวมทั้งการหยุดผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังส่งผลให้ขาดแคลนรถยนต์เชิงพาณิชย์เพื่อการลงทุนด้วย นอกจากนี้ ยังมีการชะลอการลงทุนของโครงการก่อสร้างหลายแห่ง ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ 1.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน

สำหรับภาครัฐ การเบิกจ่ายลดลงต่อเนื่อง เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ยังไม่ประกาศใช้ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ลดลงจากปัญหาอุทกภัยและการขยายระยะเวลาการชำระภาษี ซึ่งทำให้จัดเก็บรายได้ได้น้อยกว่ารายจ่าย ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 28.6 พันล้านบาท

การหดตัวของภาคการผลิต การส่งออก และอุปสงค์ในประเทศ ส่งผลให้การนำเข้าหดตัวร้อยละ 1.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่นับรวมทองคำ การนำเข้าจะหดตัวร้อยละ 5.7 เป็นผลจากการหดตัวของการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก เครื่องจักรไฟฟ้าและการนำเข้าสินค้าคงทนเพื่อการบริโภค อาทิ เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เป็นต้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.19 และ 2.90 ตามลำดับ สำหรับตลาดแรงงาน เริ่มเห็นสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้นบ้างจากจำนวนแรงงานที่ขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าการว่างงานจะเพิ่มขึ้นชั่วคราว เนื่องจากสถานประกอบการที่ยังขาดแคลนแรงงานจะช่วยรองรับผู้ว่างงานได้ส่วนหนึ่ง

ประกอบกับ การฟื้นตัวของภาคการผลิตจะช่วยให้การจ้างงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไปสำหรับเสถียรภาพต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์มั่นคง แม้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลจากการส่งออกที่ลดลงแต่เงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่หนี้ต่างประเทศโดยเฉพาะหนี้ระยะสั้นปรับลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ