(เพิ่มเติม1) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเศรษฐกิจ Q1/55 ฟื้นโต 1% จากหดตัว 3.3% ใน Q4/54

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 6, 2012 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 1/55 ว่าจะเริ่มฟื้นกลับมาขยายตัวได้ 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ในไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจติดลบถึง 3.3% จากผลกระทบวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไป ภายใต้คาดการณ์ทั้งปี 55 เศรษฐกิจจะขยายตัวในกรอบ 3.5-4.8%

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 55 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีปัจจัยหนุจากนโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นฟูประเทศและการลงทุนสืบเนื่องจากเหตุอุทกภัย

ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 55 กรณีพื้นฐานขยายตัวที่ 4.3% หรืออยู่ในช่วง 3.5-4.8% โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2.8% การลงทุนขยายตัว 5.5% การส่งออกและการนำเข้าขยายตัวในอัตราเดียวกันที่ 5% ดุลการค้าเกินดุล 27.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 12.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.9% โดยที่ครึ่งปีแรกเงินเฟ้อชะลอตัว แต่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินในกรณีเลวร้ายสุด วิกฤตหนี้ยุโรปทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยอาจจะติดลบ 3.5% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั่วโลก รวมถึงการส่งออกของไทยที่อาจจะติดลบ 8% และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 1%

"หากส่งออกหดตัวมาก แต่ยังมีกลไกภาครัฐมาช่วยกระตุ้น ทั้งการนโยบายเพิ่มรายได้ การลงทุนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตาม จึงยังทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นติดลบ แต่ยังขยายตัวได้เล็กน้อย"นางพิมลวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่ากังวลคือสัดส่วนการลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศที่เข้ามาในไทยลดลงจากอดีต โดยพบว่าในปี 54 มี FDI ลดลงมาก โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุอุกภัย ดังนั้น ภาครัฐคงต้องเร่งสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นในการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม และควรเริ่มดำเนินการให้มีความคืบหน้าชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 1/55 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและให้ทันรับมือน้ำในฤดูกาลที่จะมาถึง ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเร่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในทำเลพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองภาคการเงินปี 55ว่า เป็นปีที่เหตุการณ์พร้อมพลิกผัน และจะกระทบตัวแปรต่อตลาดเงินที่แตกต่างกัน โดยมองว่านโยบายดอกเบี้ยในปีนี้ อาจปรับลดลงไม่มาก จากสิ้นปี 54 ที่อยู่ 3.25% โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีแรกดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดลงได้เล็กน้อย เนื่องจากยังมีแรงต้านจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขึ้นต่อ การเพิ่มค่าตอบแทนภาครัฐ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าตามการฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม และความเสี่ยงเงินเฟ้ออาจปรับขึ้นหากรอบบนของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 0.5-30%

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับลดลงตามดอกเบี้ยนโยบายได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณตราสารหนี้ในตลาด ซึ่งในปีนี้ คาดว่าจะมีเอกชนออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อชดเชยรุ่นที่ครบกำหนดประมาณ 100,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 54 ที่มี 94,652 ล้านบาท ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีความต้องการใช้เงินจำนวนเพิ่มขึ้น และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ยังเติบโตได้ดี แต่ชะลอลงจากปีก่อน โดยคาดว่าเติบโต 9-12% เนื่องจากธนาคารจะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้สภาพคล่องในปี 55 มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นด้วย

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน ส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าภูมิภาคเอเซียยังมีอยู่ เนื่องจากต่างชาติยังให้ความสนใจตลาดเอเซีย รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตามมองว่าเงินบาทแม้จะยังผันผวนแต่ทางการยังใช้เครื่องมือที่มีอยู่บริหารจัดการได้

ด้านนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นกรณีการแก้ปัญหาหนี้สินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นใจ โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่คาดคิด ดังนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจน

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งข้อสังเกตการบริหารจัดการหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม เช่น ประเด็นเทคนิคทางกฎหมาย แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก. ในการโอนเงิน สินทรัพย์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย และกองทุนฟื้นฟู เพื่อมาชำระหนี้ รวมถึงการแบ่งเงินสมทบจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมถึงการหาแหล่งที่มาของเงินในช่องทางใหม่ ซึ่งจะไม่เป็นภาระการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ