"กิตติรัตน์"มั่นใจศก.ไทยปีนี้โต 7% เปิดแผนแม่บทจัดการน้ำเสนอ นลท.14 ม.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday January 7, 2012 10:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 55 จะขยายตัวในอัตรา 7% ถือเป็นอัตราการเติบโตที่มากเป็นพิเศษ จากปี 54 ที่คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 1.5% โดยเศรษฐกิจที่เติบโตได้มากในปีนี้ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะเป็นการเติบโตจากฐานผู้มีรายได้น้อย ไม่ได้เป็การเติบโตจากการเก็งกำไรในสินทรัพย์ แต่เศรษฐกิจเติบโตจากนโยบายของรัฐบาล ในโครงการต่างๆ ที่กระตุ้นกำลังซื้อและการผลิต รวมทั้งรัฐบาลจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในระบบบริการจัดการน้ำอย่างเข้มแข็ง ขณะที่การส่งออกที่มีความกังวลปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ไทยมีการส่งออกไปยังกลุ่มยูโรโซนเพียง 9.8% ขณะที่ไทยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี ราคาไม่สูง ดังนั้นยังมีความต้องจากต่างประเทศแม้มีกำลังซื้อลดลงก็ตาม

ทั้งนี้แผนแม่บทบริหารการจัดการลุ่มน้ำที่ปรับปรุงใหม่ ขณะนี้พร้อมดำเนินการได้ทันที หลัง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 55 ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยในปี 55 ได้จัดงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเร่งด่วนแล้วเสร็จในปีนี้ วงเงิน 17,126 ล้านบาท โดยได้ตั้งงบประมาณปีงบประมาณ 55 จำนวน 12,610 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้งบประมาณ ปี 56 เพื่อนำไปใช้ดำเนินการซ่อมแซมคันคู สถานีสูบน้ำ ระบบการจัดการระบายน้ำที่เสียหายจากน้ำท่วมครั้งที่แล้วมา รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว จะดูแลทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ จะมีการออกกฎหมายระดมเงิน จำนวน 350,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่พร้อมดำเนินการแต่จะใช้เวลาแล้วเสร็จหลายปี เช่นโครงการสร้างระบบเก็บน้ำขนาดใหญ่ ใช้เวลา 2-3 ปี โดยแบ่งการจัดสรรงบประมาณ เป็น 300,000 ล้านบาท ดูแล 8 ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 40,000 ล้านบาท ใช้ดูแล 17 ลุ่มแม่น้ำทั่วประเทศ และอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) พิจารณาโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศระยะยาว ตั้งเป้าจะระดมเงิน ให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 56

"แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำรัฐบาลพร้อมนำเสนอให้นักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศได้เห็น ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เพื่อเป็นการยืนยันความพร้อมของรัฐบาล" นายกิตติรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังจะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับ คือ การออกกฎหมายเพื่อให้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อยู่ในการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการให้ภาระหนี้อยู่ให้ถูกที่ถูกทาง เพื่อให้ประเทศพัฒนาต่อไปโดยโดยไมเสียวินัยการเงินการคลัง และยืนยันว่าจะไม่มีการดำเนินการพิมพ์ธนบิตรเพิ่ม และไม่เกี่ยวข้องกับบัญชีทุนสำรองเงินตรา แต่ต้องการให้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯไม่เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นภาระงบประมาณ เพื่อที่รัฐบาลสามารถนำเงินงบประมาณที่เป็นรายได้จากภาษีประชาชนมาพัฒนาประเทศได้ต่อไป

นอกจากนี้จะมีการออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนประกันภัย เพื่อสนับสนุนธุรกิจประกันภัยในการให้บริการภาคธุรกิจที่เสียหายจากภัยธรรมชาติ เพื่อกให้การดำเนินการมีความคล่องตัว และ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน และออกกฎหมายการให้ซอฟท์โลนของ ธปท. วงเงิน 300,00 ล้านบาท เพื่อให้กู้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)ที่มีความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งมีข้อตกลงที่ ธปท.จัดซอฟท์โลน 210,000 ล้านบาท และธนาคารรัฐปล่อยกู้ 90,000 ล้านบาท

"ทั้งหมดเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและฉุกเฉิน แม้การลงทุนจริงจะต้องใช้เวลาศึกษาบ้าง บางทีก็เป็นรายสัปดาห์ แต่ทั้งหมดหากทุกฝ่ายเห็นความชัดเจนพร้อมกันก็จะเป็นความมั่นใจว่าเราพูดจริง ทำจริง" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ด้าน นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. ยอมรับว่า นักลงทุนชาวต่างชาติ ค่อนข้างมีความกังวลเรื่องการประกันภัยเพราะจะทำให้การกู้ยืมเงินสถาบันการเงินมีปัญหา และมีเงื่อนไขหลายเรื่อง ดังนั้น ตนเองจึงเดินทางไปลอนดอน และญี่ปุ่น เพื่อให้การยืนยันว่าไทยจะไม่เกิดน้ำท่วมหนักแบบปีก่อนอื่น ซึ่งสิ่งที่ต่างชาติต้องการเห็นคือการดำเนินการอย่างจริงจัง

"ปัญหาที่ผมเห็นแก้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่ประสานการบริหารน้ำ การไม่ดูแลระบบต่างๆที่มีอยู่ให้ใช้ประโยชน์เต็มที่ คู คลองปล่อยให้ขยะขึ้น คันคูต่างๆ ก็ปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม ดังนั้นระยะสั้น คือต้องเสริมคันคู ระบบต่างๆ ก็จะมีการระดมผู้รับเหมาในประเทศ และอยากให้มีการซ้อมใหญ่ดูว่าน้ำท่วมแล้ว จะเป็นอย่างไรไร เพื่อทดสอบระบบการสูบน้ำต่าๆง เพื่อให้รู้ข้อบกพร่องส่วนไหนบ้าง" นายวีรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้มองว่าเมื่อรัฐบาลสามารถยกภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯออกได้โดยไม่เป็นหนี้สาธารณะ จะทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินโครงการต่างๆได้เพื่อรองรับการเติบโตของเอเซีย และไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีที่ตั้งเหมาะสมเชื่อมโยงประเทศตางๆ เพื่อสร้างโอกาสการเป็นศูนย์กลางการบิน การคมนาคมของภูมิภาค แต่ระบบต่างๆของไทยยังล้าสมัยจึงต้องมีการพัฒนาใหม่ให้เหมาะสม นอกจากนี้ควรจะต้องมีการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ไอที เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน และยกระดับมาตรฐานให้ทันสมัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ