BAY มองทิศทางดอกเบี้ยปีนี้ขึ้นยาก-ลงลำบาก คาดสิ้นปีอยู่ที่ 3-3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 23, 2012 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ระบุว่า จากความเสี่ยงที่มีอยู่สูงทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและด้านเงินเฟ้อ จึงนับเป็นความท้าทายอย่างมากในการดำเนินโยบายการเงินของทางการในปีนี้ ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากระดับปัจจุบัน โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 55 จะอยู่ที่ระดับ 3.00-3.50% ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งแรกของปีนี้ในวันที่ 25 ม.ค. คาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาสู่ 3.00% เพื่อดูแลเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวดีขึ้น

ในระยะสั้น ทางการน่าจะยังมีความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากการลุกลามของปัญหาหนี้สาธารณะในยูโรโซนยังปกคลุมความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและไทย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มองว่าปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในไทยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้

ทั้งนี้ ความเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศอาจกดดันการใช้จ่ายภายในประเทศ ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะนี้บรรเทาลงบ้าง สอดคล้องกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนธ.ค.54 ที่ปรับลดสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 3.5% ซึ่งต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ ดังนั้นจึงอาจเปิดทางให้ กนง.สามารถจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในการประชุมที่จะถึงนี้

ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนับจากนี้จะเป็นขาขึ้นหรือขาลงนั้น ในมุมมองของวิจัยกรุงศรีฯ เห็นว่าขณะนี้ กนง.กำลังยืนอยู่ในจุดที่เป็น "ทางแพร่งของการดำเนินนโยบายการเงิน" ที่กำลังถูกบีบคั้นด้วยความเสี่ยงสูงทั้งทางด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและทางด้านเสถียรภาพของระดับราคา จนอาจทำให้ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนับจากนี้ตกอยู่ในภาวะ "ขึ้นก็ยาก ลงก็ลำบาก" กล่าวคือ

ความเสี่ยงด้านการเจริญเติบโตมีอยู่มาก แม้เศรษฐกิจไทยในปี 55 อาจขยายตัวได้ในอัตรา 4-5% แต่ก็เป็นการเติบโตขึ้นในสภาพที่ไม่ค่อยปกติ โดยมาจากเม็ดเงินที่ใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งต่อภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ภาระการใช้จ่ายที่ผุดขึ้นมากมายโดยมิได้คาดหมายมาก่อนดังกล่าว อาจส่งผลเบียดเบียนศักยภาพการใช้จ่ายในวัฏจักรการบริโภคและการลงทุนตามปกติที่เคยมีแนวโน้มที่ดีในช่วงก่อนเกิดมหาอุทกภัย และทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในระดับไม่เข้มแข็งนัก

นอกจากนี้ โอกาสการเติบโตของไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวอย่างแรงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปจะรุนแรงเพียงใดหรือจะบานปลายกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกหรือไม่ แต่อย่างน้อยน่าจะได้เห็นเศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ซึ่งจะมีผลกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยในระดับหนึ่ง ดังนั้น โอกาสการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จึงมีน้อย

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังสูง ดอกเบี้ยลงลำบาก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะนี้ดูเหมือนจะผ่อนคลายลงบ้าง เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดปรับลดลง และความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่ายยังถูกบั่นทอนหลังเพิ่งพ้นจากวิกฤตน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation expectation) ก็พร้อมที่จะปรับตัวเร่งขึ้นเมื่อใดก็ตามที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีสัญญาณผ่อนคลาย สำหรับปัจจัยขับดันที่สำคัญ ได้แก่ 1) นโยบายประชานิยมและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมของทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราสูงที่จะเริ่มในเดือนเม.ย.55 ซึ่งเป็นมาตรการที่จะทยอยเข้มข้นขึ้นในระยะต่อไป

2) การทยอยปรับเพิ่มราคาพลังงาน ทั้ง LPG ภาคขนส่ง และ NGV ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยจะปรับขึ้นต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา 12 เดือน 3) ราคาอาหารสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงก่อนหน้าและมีแนวโน้มจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้งยังอาจมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคาข้าวในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นโดยผลจากโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูง และ 4) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวสูง จากความตึงเครียดทางการเมืองในแถบตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ซึ่งจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีอยู่มากเช่นนี้ จึงเป็นข้อจำกัดในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ