ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคาข้าวก.พ.55 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2012 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าราคาข้าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จะยังมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนมกราคม 2555 อันเป็นผลจากการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว และปริมาณข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาล ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และราคาขายส่งและราคาส่งออกก็มีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากการเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากอินเดียและเวียดนาม ทำให้การส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554

"แนวโน้มราคาข้าวส่งออกทั้งของไทยและเวียดนามยังอาจปรับลดลงได้อีกในระยะข้างหน้า โดยนอกจากจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงจากอินเดียที่เพิ่มการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่องด้วยราคาที่ต่ำกว่าไทยและเวียดนามแล้ว ยังอาจถูกกดดันจากการคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มเติมในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนอีกด้วย โดยตามปัจจัยทางฤดูกาล ข้าวเวียดนามจะออกสู่ตลาดมากในเดือนมีนาคม ส่วนข้าวนาปรังของไทยจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ในเดือนมกราคม 2555 ดัชนีราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับ 188.93 หรือหดตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2554(MoM) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากปริมาณข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำยังต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาล เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ไม่อยากยุ่งยากในเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติในการขายข้าวให้กับรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าว และการขายข้าวให้ภาคเอกชนที่รับซื้อข้าวไว้เพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งได้รับราคาดีกว่าการส่งออก

ส่วนดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสี และดัชนีราคาส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องจากในเดือนธันวาคม 2554 จากการที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากอินเดียและเวียดนาม โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านราคา ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวของไทยปรับลดราคาส่งออกข้าว แต่ราคาข้าวของไทยก็ยังอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าคู่แข่งขัน ดังนั้น การรับซื้อข้าวเพื่อการส่งออกลดลงด้วย ซึ่งส่งผลต่อทั้งราคาส่งออกและราคาขายส่งหน้าโรงสี โดยดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสีในเดือนมกราคม 2555 อยู่ในระดับ 180.42 หดตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(MoM) ส่วนดัชนีราคาส่งออกข้าวทุกประเภทของไทยหดตัวไปอยู่ที่ระดับ 178.89 หรือหดตัวร้อยละ 3.5 MoM แต่ทั้งดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสีและดัชนีราคาส่งออกข้าวทุกประเภทยังขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 YoY และร้อยละ 10.1 YoY ตามลำดับ เนื่องจากข้าวยังอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าในเดือนมกราคม 2554

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกข้าวไทยยังอยู่ในฐานะเสียเปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากราคาส่งออกข้าวของไทยอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยราคาส่งออกข้าวของไทยสูงกว่าเวียดนามประมาณ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทข้าว) และสูงกว่าอินเดียประมาณ 59-135 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน แม้ว่าในช่วงเดือนมกราคม 2555 อินเดียปรับเพิ่มราคาส่งออกข้าว 5-20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เนื่องจากรัฐบาลอินเดียอนุมัติให้มีการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอีก 3-4 ล้านตัน ทำให้ผู้ส่งออกข้าวของอินเดียไม่ต้องตัดราคาส่งออกเพื่อชิงโควตาส่งออกข้าวที่เดิมกำหนดไว้เพียง 2 ล้านตันเท่านั้น

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามจากนี้ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์ปริมาณการผลิตข้าวปีเพาะปลูก 2554/55 เบื้องต้นว่าจะมีประมาณ 31.47 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับปีเพาะปลูก 2553/54 แยกเป็นข้าวนาปี 20.36 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.2 เนื่องจากข้าวเปลือกเจ้านาปีบางส่วนเสียหายจากน้ำท่วม และข้าวนาปรัง 11.11 ล้านตัน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 9.6 ซึ่งนับว่าเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากน้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลไม่ได้จำกัดการปลูกข้าวนาปรังเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆมา ประกอบกับราคารับจำนำข้าวเปลือกอยู่ในเกณฑ์สูง จูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น

มาตรการจำนำราคาข้าวนาปีที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการรับจำนำข้าวนาปรังต่อเนื่องหรือไม่ และจะกำหนดราคารับจำนำในระดับใด

การแข่งขันในการส่งออกนั้น คาดว่าการแข่งขันกับเวียดนามจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยคาดหมายว่าข้าวของเวียดนามจะออกสู่ตลาดมากในเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งล่าช้ากว่าปีปกติประมาณ 1 เดือน ส่งผลให้การแข่งขันในการส่งออกข้าวจะรุนแรงในช่วงไตรมาส 2/2555 นอกจากนี้ เวียดนามเพิ่มความหลากหลายในการส่งออกข้าว โดยในปี 2555 เวียดนามเพิ่มการส่งออกข้าวนึ่งเป็น 400,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 เมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งส่งผลให้การแข่งขันในตลาดข้าวนึ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

ขณะที่อินเดียประกาศอนุมัติให้ส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งอีก 3-4 ล้านตันเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา จากที่เคยกำหนดไว้ในเดือนกันยายน 2554 ที่ 2 ล้านตัน และได้มีการส่งออกไปแล้ว 1.96 ล้านตัน (จนถึงช่วงต้นเดือนมกราคม 2555) ทั้งนี้ เนื่องมาจากมีการคาดการณ์ว่า ปริมาณข้าวในช่วงฤดูร้อนปี 2554/55 อาจเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 87.1 ล้านตัน (ร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปีก่อน) ขณะที่ปริมาณสต็อกข้าวของรัฐบาลซึ่งอยู่ที่ระดับ 29.8 ล้านตัน ณ วันที่ 1 มกราคม 2555 ก็มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 11.8 ล้านตัน

ซึ่งประเทศของอินเดียนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่านอกจากจะกดดันราคาข้าวส่งออกทั้งของไทยและเวียดนามในระยะข้างหน้าเพราะราคาที่ต่ำกว่า แล้วยังอาจถูกกดดันจากการคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มเติมในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนไล่เลี่ยกับผลผลิตของเวียดนามและไทย โดยตามปัจจัยทางฤดูกาลข้าวเวียดนามจะออกสู่ตลาดมากในเดือนมีนาคม ส่วนข้าวนาปรังของไทยจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ