สนพ.จ้างจุฬาฯศึกษาโครงสร้างต้นทุน NGV-LPG รู้ผลในก.พ.-ยันรัฐไม่ล้วงลูก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2012 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้ประสานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้เข้ามาศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)ภาคขนส่ง และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการมากขึ้น ก่อนที่จะดำเนินการปรับโครงสร้างราคา NGV เดือนละ 50 สต./กก., LPG เดือนละ 75 สต./กก. หรือ 41 สต./ลิตร และการเก็บเงินจากน้ำมันเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเดือนละ 1 บาท/ลิตร ตามนโยบายของรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 16 ก.พ.นี้

การศึกษาของจุฬาฯ จะนำข้อมูลที่ทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ศึกษาต้นทุนพลังงานดัง กล่าวไว้แล้วไปประกอบการศึกษาด้วย คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.นี้

นายสุเทพ กล่าวว่า ภาครัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงการศึกษาของจุฬาฯ โดยจะให้จุฬาฯ ได้กำหนดขอบเขตการศึกษาเอง แต่รัฐจะคอยให้ข้อมูลประกอบ โดยจะเร่งศึกษาเรื่อง NGV ก่อน ส่วนจะมีการปรับขึ้นราคาพลังงานรอบสองในวันที่ 16 ก.พ.นี้หรือไม่จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) พิจารณาก่อน

"การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อความเป็นธรรมในสังคมไม่ใช่เรื่องการขาดทุน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลต้องเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล แล้วนำเงินดังกล่าวไปอุดหนุน LPG และ NGV จึงเกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้พลังงาน" นายสุเทพ กล่าว

นอกจากนี้ ในวันที่ 6 ก.พ. คณะกรรมการร่วมภาครัฐและผู้ประกอบการรถแท็กซี่, รถตุ๊กตุ๊ก, รถตู้ร่วม ขสมก.ที่ใช้ NGV ที่มีนายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะประชุมนัดแรกเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนราคา NGV โดยจะพิจารณาว่าผู้ประกอบการมีปัญหาข้องใจในประเด็นใดบ้าง จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวส่งต่อให้ทางจุฬาฯ เป็นผู้ศึกษาต่อไป

ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวด้วยว่า สนพ.ยังเตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาโครงการพัฒนาทะเลฝั่งอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลฝั่งอ่าวไทย(แลนด์บริดจ์)ตามนโยบายของนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน โดยจะใช้งบประมาณประจำปี 55 จำนวน 10 ล้านบาทในการศึกษาโครงการตามกรอบระยะเวลา 1 ปี ซึ่งการศึกษาจะทำให้ทราบถึงสถานที่ตั้งที่ชัดเจนขึ้นและประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการส่งน้ำมันทางท่อฯ ระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ