ธปท.พร้อมรับสภาพจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ หลังผลตีความ พ.ร.ก.ไม่ขัดรธน.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 22, 2012 19:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคาแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า เมื่อผลตีความ พ.ร.ก.บริหารหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินออกมาว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องที่ดีในการแก้ปัญหาหนี้ที่ค้างคาสะสมมานาน 1.14 ล้านล้านบาท โดยขั้นตอนต่อไปคือการปฎิบัติตามที่ในประเด็นที่ ธปท.ได้ทำข้อตกลงกับกระทรวงคลังต่อไป

ในงวดแรกของการชำระหนี้นั้น รายได้นำส่งอาจไม่เพียงพอที่จะชำระอัตราดอกเบี้ยที่ประมาณการไว้ในระดับ 40,000-50,000 ล้านบาท แต่ ธปท.สามารถดึงเงินจากบัญชีผลประโยชน์ด้านอื่นๆมาใช้ได้

ส่วนการนำส่งเงินสมทบจากฐานเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.47% ที่จะเริ่มเก็บงวดแรกในเดือนก.ค.นี้ โดยหาคิดจากฐานเงินฝากปัจจุบันที่ 7.7 ล้านล้านบาทและตั๋วแลกเงิน 2 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีเงินมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯประมาณ7,000 ล้านบาทหรืองวดละ 3,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในระยะ 3 ปีข้างหน้าธปท.จะกลับมาทบทวนความเป็นไปได้ในการปรับลดเงินนำส่งในอัตราที่ต่ำกว่า 0.47% เพราะเชื่อว่าขณะนั้นต้นเหนี้น่าจะปรับลดลงไปได้มาก ประกอบกับเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวสูงขึ้นซึ่งมีผลต่อการเติบโตยอดเงินฝากซึ่งปัจจับันเติบโตที่ประมาณ 4%ต่อปี

“ตอนนี้เราจะไม่โหมลดหนี้ก้อนหนี้มากๆ เพื่อลดต้นเงิน เพราะจะไปกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านอื่น เราจึงใช้เงื่อนระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เราไม่อยากให้การแก้ไขปัญหาจุดเล็กๆ มาเป็นอุปสรรคหรือสร้างปัญหาใหญ่ให้แก่เศรษฐกิจไทย"นายประสาร กล่าว

พร้อมกันนั้น นายประสาร ยังเปิดเผยว่า ได้รับการยืนยันจากผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะ 4 ธนาคารขนาดใหญ่ว่าจะไม่ผลักภาระต้นทุนการนำส่งเงินเพิ่มไปที่อัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าอย่างแน่นอน แต่ก็เชื่อว่าตั๋วแลกเงินอาจจะหายไปจากระบบ

นายประสาร ยังให้ความเห็นถึงราคาน้ำมันในขณะนี้ว่า ระยะสั้นคงจะมีการปรับตัวขึ้นจากปัญหาความตึงเครียดในอิหร่าน ซึ่งจะทำให้ตลาดน้ำมันทั่วโลกปรับตัวขึ้น แต่ขณะนี้แหล่งผลิตน้ำมันมีกระจายตัวในหลายประเทศ ไม่ได้กระจุกตัวเหมือนในอดีต ประกอบกับเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะชะลอตัวในปีนี้จากเศรษฐกิจประเทศสำคัญมีปัญหา ดังนั้น เชื่อว่าจะทำให้อุปสงค์น้ำมันชะลอลงด้วย จึงไม่ได้สร้างแรงกดดันทำให้ราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้นมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ