กรมศุลฯยกเครื่องรองรับ AEC หนุนค้าชายแดนพุ่ง-ยันปีนี้เก็บรายได้ตามเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 4, 2012 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ปริมาณการค้าชายแดนทางภาคเหนือถือว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก และด่านชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย หลังจากที่พม่าได้เปิดประเทศมากขึ้น ประกอบกับไทยและกลุ่มประเทศต่างๆ ได้เตรียมรองรับเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งในส่วนของกรมศุลกากรเองได้เตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งการหาพื้นที่ในการเปิดด่านถาวร ที่ จ.กาญจนบุรี, การปรับปรุงด่านศุลกากรที่มีขนาดเล็กให้มีขนาดกว้างขวางขึ้น, การให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมาย และการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น การจัดตั้งระบบ National Single Window, การลดขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการ เป็นต้น

โดยในปีงบประมาณ 54 ที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนในภาคเหนือพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการค้ารวม 72,228 ล้านบาท สินค้าส่งออก-นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า, น้ำมันปิโตรเลียม และยานยนต์-ชิ้นส่วนประกอบ เป็นต้น

สำหรับโครงการที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว และจะดำเนินการในอนาคตเพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนในแถบลุ่มน้ำโขง คือ 1.โครงการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน 2 ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จไป 99% ซึ่งกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 1 เม.ย.55 นี้ 2.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งเป็นกรพัฒนาโครงข่ายและระบบขนส่งทางรถไฟที่ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทย อีกทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศจีน ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวด้านการค้าชายแดนของประเทศ

นายสมชาย มองว่า แม้การเปิด AEC และการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างภูมิภาคอาเซียน (AFTA) จะทำให้ต้องมีการยกเว้นอัตราภาษีศุลกากรเพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องดังกล่าวก็จะเป็นผลดีในด้านการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการขยายตัวด้านการค้า โดยขณะนี้ในส่วนของ FTA ยังพบว่าผู้ประกอบการมาใช้สิทธิไม่มากมีเพียง 10% ซึ่งอาจเป็นเพราะขั้นตอนและพิธีการทางกรมศุลกากรยังมีความยุ่งยาก แต่กรมฯ จะเร่งพัฒนาระบบ E-Customs ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการเข้าร่วม AEC และ AFTA อาจจะมีผลกระทบทำให้การจัดเก็บภาษีของกรมฯ ลดลง แต่ยังเชื่อว่าในปีงบประมาณ 2555 กรมจะยังคงจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ที่ 105,000 ล้านบาท แม้ว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.54-ม.ค.55) การจัดเก็บรายได้อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม แต่การจัดเก็บรายได้ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากวิกฤติน้ำท่วมคลี่คลาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ