ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดดัชนีราคาข้าว มี.ค.หดตัวต่อเนื่องจากส่งออกชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 12, 2012 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาส่งออกข้าวในเดือนมีนาคม 2555 ยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2555 อันเป็นผลจากการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว และปริมาณข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาล แม้ว่าราคาเกษตรกรขายได้มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการผลิต และบรรดาโรงสีออกซื้อข้าวเก็บไว้จำหน่ายเป็นข้าวเก่าในปีถัดไป ในขณะที่ราคาขายส่งและราคาส่งออกก็มีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากอินเดียและเวียดนาม ทำให้การส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554

การกลับเข้ามาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งของอินเดียในช่วงเดือนกันยายน 2554 หลังจากที่งดส่งออกไป 3 ปี ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดราคาข้าวส่งออกทั้งของไทยและเวียดนามให้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังส่งผลให้ส่วนต่างของราคาส่งออกข้าวไทยและเวียดนามมีแนวโน้มกว้างขึ้น โดยเฉพาะข้าวขาว5% จากการที่เวียดนามประกาศปรับลดราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำลงอย่างรวดเร็วเพื่อปรับตัวรับการแข่งขันกับอินเดีย ในส่วนของราคาข้าวขาว25%

ทั้งไทยและเวียดนามเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากอินเดีย ราคาส่งออกข้าวขาว25% ของไทยและเวียดนามในเดือนมกราคม 2555 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ในขณะที่ราคาส่งออกของอินเดียอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าถึง 139 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่เริ่มกลับมาส่งออกราคาข้าวขาว25%ของอินเดียมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากรัฐบาลจำกัดโควตาส่งออกไว้ที่ 2 ล้านตัน ทำให้มีการแย่งโควตากันส่งออก แต่คาดว่าหลังจากที่รัฐบาลอินเดียประกาศให้ส่งออกได้เสรีในช่วงเดือนมกราคม 2555 ราคาข้าวขาว25% ของอินเดียมีแนวโน้มคงที่และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป แต่ความแตกต่างของราคายังคงส่งผลให้อินเดียได้เปรียบในการแข่งขันส่งออกข้าวขาวคุณภาพปานกลางถึงต่ำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มราคาข้าวส่งออกทั้งของไทยและเวียดนามยังอาจปรับลดลงได้อีกในระยะข้างหน้า โดยนอกจากจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงจากอินเดียที่เพิ่มการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่องด้วยราคาที่ต่ำกว่าไทยและเวียดนามแล้ว ยังอาจถูกกดดันจากการคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มเติมในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนอีกด้วย โดยตามปัจจัยทางฤดูกาล ข้าวเวียดนามจะออกสู่ตลาดมากในเดือนมีนาคม ส่วนข้าวนาปรังของไทยจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ แผนการจัดระบบการปลูกข้าวเพื่อมุ่งป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัย ตลอดจน แนวทางการจัดหาพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่เพื่อใช้เป็นพื้นที่แก้มลิง ที่อาจจะมีผลต่อปริมาณการผลิตข้าวในระยะถัดไป

ส่วนในเรื่องตลาดส่งออก ซึ่งยังคงเผชิญปัญหาการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งจากเวียดนามและอินเดีย แม้ว่าในช่วงระยะสั้นๆอาจได้รับอานิสงส์จากกรณีที่ไนจีเรียจะปรับเพิ่มภาษีและค่าธรรมเนียมนำเข้าข้าวที่น่าจะทำให้มีการเร่งนำเข้าข้าวก่อนที่จะมีการปรับอัตราภาษีใหม่ ในขณะที่อินเดียประสบปัญหาความแออัดของท่าเรือ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นก่อนการปรับเพิ่มภาษีได้ แต่ในระยะถัดไปมีแนวโน้มว่าผู้ส่งออกข้าวของไทยอาจต้องเร่งหาตลาดส่งออกข้าวเพิ่มเติม เนื่องจากคาดหมายว่าไนจีเรีย ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าข้าวอันดับหนึ่งของไทยมีแนวโน้มนำเข้าข้าวลดลง

สำหรับในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดัชนีราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับ 192.22 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2554 (MoM) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวมีแนวโน้มปรับขึ้น อันเป็นผลมาจากเป็นช่วงปลายฤดูการผลิต พ่อค้าข้าวเก็บสต็อกผลผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นข้าวเก่าในช่วงฤดูถัดไป

อย่างไรก็ตาม ปริมาณข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำเมื่อสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวนาปีเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์อยู่ในระดับ 6.77 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 25 ล้านตันข้าวเปลือก เนื่องจากปริมาณข้าวส่วนหนึ่งเสียหายจากภาวะน้ำท่วม นอกจากนี้ ราคาข้าวในระดับที่เกษตรกรขายได้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าราคารับจำนำ โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ระดับ 15,000-16,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้าอยู่ในระดับ 9,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียวเฉลี่ยตันละ 11,000-14,500 บาท/ตัน เนื่องจากข้าวที่ผลิตได้มีความชื้นสูงและคุณภาพไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

ส่วนดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสี และดัชนีราคาส่งออกข้าวทุกประเภทของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 อยู่ในระดับ 177.02 และ 173.64 หรือหดตัวร้อยละ 1.9 และร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า(MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน(YoY) ทั้งดัชนีราคาขายส่งหน้าโรงสีและดัชนีราคาส่งออกข้าวทุกประเภทเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 YoY และร้อยละ 6.3 YoY ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกข้าวยังเผชิญการแข่งขันรุนแรงอย่างต่อเนื่องทั้งจากเวียดนามและอินเดีย ส่งผลให้คำสั่งซื้อข้าวมีเข้ามาไม่มากนัก บรรดาโรงสีและผู้ส่งออกข้าวไม่ได้ออกรับซื้อข้าวทำให้ราคาหดตัวต่อเนื่องจากเดือนมกราคม

ดัชนีราคาข้าวส่งออกข้าวขาว5% ของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 อยู่ในระดับ 143.69 หดตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2554 เนื่องจากปัญหาการส่งออกที่ยังคงเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากอินเดียและเวียดนาม ทำให้คำสั่งซื้อข้าวจากไทยลดลงต่อเนื่อง ประเด็นที่น่าสนใจคือ ดัชนีราคาส่งออกข้าวขาว5% ของเวียดนามก็หดตัวร้อยละ 4.4 ไปแตะที่ระดับ 132.91 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเวียดนามปรับลดราคาส่งออกข้าวเพื่อแข่งขันกับอินเดียเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ