สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (23 เม.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป รวมทั้งรายงานที่ว่าดัชนีภาคการผลิตของจีนและยูโรโซนชะลอตัวลง
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 10.2 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,632.6 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1633.0 -1626.9 ดอลลาร์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค.ร่วงลง 1.12 ดอลลาร์ ปิดที่ 30.531 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนพ.ค.ร่วงลง 7.2 เซนต์ ปิดที่ 3.626 ดอลลาร์/ปอนด์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 27.9 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,556.3 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 6 ดอลลาร์ ปิดที่ 670.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของนักวิเคราะห์ว่า ตลาดทองคำนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากภาวะการซื้อขายที่ซบเซาในตลาดการเงิน รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป และภาคการผลิตของจีนที่ชะลอตัวลง
ผลการเลือกตั้งรอบแรกของประธานาธิบดีฝรั่งเศสปรากฎว่า นายฟรังซัวร์ ฮอลลองด์ พรรคสังคมนิยม มีคะแนนนำนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี ซึ่งทำให้ทั้งคู่จะต้องขับเคี่ยวกันในรอบสุดท้ายวันที่ 6 พ.ค.นี้
ขณะเดียวกันมีรายงานว่านายมาร์ค รัทเทอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ไม่สามารถควบคุมการขาดดุลงบประมาณภายในประเทศ ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อสมเด็จพระราชินีเบียทริซแล้วเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทย หลังจากที่รัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับแผนการลดยอดขาดดุลงบประมาณให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (อียู)
นอกจากนี้ ตลาดทองคำยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของจีนและยูโรโซน โดยมาร์กิต อิโคโนมิคเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซน ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 47.4 ในเดือนเม.ย. จาก 49.1 ในเดือนมี.ค. ซึ่งตัวเลขต่ำกว่าระดับ 50 ถือว่าอยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากยอดสั่งซื้อปรับตัวลดลง และการปลดพนักงานมากขึ้นได้ส่งผลกระทบทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ
ขณะที่ HSBC รายงานว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนเบื้องต้น ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 49.1 ในเดือนเม.ย. จาก 48.3 ในเดือน มี.ค. แต่ก็ยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจหดตัวลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน