ก.เกษตรฯ ตั้งเป้าดันอุตฯผลิตหมูสู่ระดับโลก, คาดปี55 ส่งออกไปญี่ปุ่นมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 11, 2012 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าปี 2555 ไทยจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อหมูไปยังญี่ปุ่นในรูปของหมูต้มสุกและแปรรูปได้มากขึ้น จากที่เคยส่งออกได้ประมาณปีละ 800 ตัน เป็น 2,000 ตัน ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการที่ญี่ปุ่นมีปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดทำให้ต้องมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์หมูจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยผลิตหมูได้ ปีละ 12 ล้านตัว หรือประมาณ 89,000 ตัน ขณะที่ประเทศเวียดนามมีการผลิตหมูในรอบปีที่ผ่านมาประมาณ 23 ล้านตัว ซึ่งสูงกว่าไทย 1 เท่าตัว และประเทศฟิลิปปินส์มีการผลิตทั้งประเทศ ปีละ 13 ล้านตัว

อย่างไรก็ตาม การส่งออกหมูต้มสุกและผลิตภัณฑ์ของไทยยังทำได้จำกัด เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยเช่นเดียวกับประเทศเวียดนาม ขณะที่ฟิลิปปินส์ไม่มีการรายงานดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของโรคระบบทางเดินหายใจ (PRRS) และโรคแท้ง (PED) ประกอบกับไทยมีมาตรการเข้มงวดการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง การผลิตหมูในประเทศของไทยยังคงเป็นไปเพื่อการบริโภคภายในประเทศมากกว่าเป้าหมายการส่งออก ซึ่งจังหวัดที่มีการผลิตหมูมาก ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม และนครราชสีมา

ปัจจุบันทั่วโลกมีการผลิตหมูประมาณ 100 ล้านตันต่อปี ไทยผลิตได้ประมาณ 89,000 ตัน ไม่ถึง 1% ของโลก โดยสหรัฐอเมริกา บราซิล และเวียดนาม มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนและแคนนาดามีกำลังผลิตลดลง ประมาณ 1-3% เมื่อเทียบกับการผลิตของโลก

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบความได้เปรียบการส่งออกเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ของไทยกับหลายประเทศ จุดแข็งของไทยอยู่ที่การมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าจีนและมีอัตราการแลกอาหารเป็นเนื้อที่ถือว่าต่ำมาก คือประมาณ 2.6 (น้ำหนักสัตว์ที่เพิ่มขึ้นต่ออาหารที่ให้ไป 1 กิโลกรัม) มีเทคนิคการผลิตที่เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากลและดีกว่าประเทศอาเซียนด้วยกัน ประกอบกับไทยมีการปรับปรุงสูตรอาหารเลี้ยงสัตว์โดยใช้มันสำปะหลังเข้ามาเป็นส่วนผสมที่สำคัญนอกเหนือจากปลายข้าว อีกทั้ง ยังสามารถผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารในการเลี้ยงหมูได้เอง จึงทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก

"ไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับการส่งออกหมูทั้งในรูปหมูต้มสุกและผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มากยิ่งขึ้น เพราะเรามีจุดแข็งและความได้เปรียบในการส่งออกหลายประการเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ในแถบอาเซียนด้วยกัน แม้ว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศจะมีมากถึงร้อยละ 80-90 ของการผลิต แต่ยังมีช่องทางและโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปต่างประเทศได้อีกมาก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น หากเราสามารถควบคุมปัญหาโรคปากเท้าเปื่อยได้ อีกทั้ง เคร่งครัดต่อมาตรฐานการจัดการฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ให้เป็นสากล เพื่อทำให้อุตสาหกรรมการผลิตหมูของไทยสามารถก้าวเข้าสู่ไประดับแนวหน้าของผู้ส่งออกในตลาดโลก เพราะไทยได้เตรียมการผลิตหมูระบบคอมพาร์ทเม้นท์ (Compartment) ซึ่งเป็นการเลี้ยงในระบบเขตปลอดโรค ที่สามารถนำไปเป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่นานาชาติให้การยอมรับไว้พร้อมแล้ว" นายนิวัติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ