"วีรพงษ์"แนะปรับแนวคิดวางนโยบายศก.เร่งลงทุน-ขยายสู่เพื่อนบ้านรับมือAEC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 11, 2012 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง"อนาคตประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)"ว่า การเปลี่ยนแนวคิดของผู้วางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ไทยปรับตัวจากประเทศที่มีการลงทุนต่ำกว่าเงินออมตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ให้เป็นประเทศที่มีการลงทุนมากขึ้น ซึ่งการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญในการรองรับ AEC ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้

"การลงทุนจึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในอีก 5-10 ปีข้างหน้างนี้ เพราะไม่เช่นนั้นค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ หากไม่ใช้เงินออมอย่างพอเพียง ประจวบกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้จะเปิดโอกาสให้ไทย ขณะที่ไทยก็มีทรัพยากรทางการเงินอย่างเหลือเฟือจึงถือว่าเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะแข่งขันกับเวทีนานาประเทศได้"นายวีระพงษ์ กล่าว

การเกิด AEC จะทำให้การเจรจาของอาเซียนกับกลุ่มอื่นมีความเข้มแข็งขึ้น และทำให้อาเซียนมีความรู้สึกร่วมในเรื่องผลประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ภายในกลุ่มอาเซียนเองก็ต้องมีการแข่งขันกันเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านธุรกิจธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ ก็จะทำให้ความสำคัญในอาเซียนในเวทีการค้ามีมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าการที่อาเซียนจะไปเจรจาการค้าเสรีกับภูมิภาคอื่น อาจทำให้ไทยไม่ได้รับประโยชน์เชิงทวิภาคี แต่จะได้รับประโยชน์ในเชิงส่วนรวมในกลุ่มอาเซียน

"เมื่ออาเซียนเปิด FTA กับจีน หรือสหรัฐ หรืออียู เราคงจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดในการเจรจาทวิภาคี แต่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม...ต่อไปถ้าแข่งขันมากขึ้น แต่โอกาสที่คนอื่นจะสู้เราไม่ได้ก็มี เพราะฉะนั้นเตรียมสตางค์ไปเทกโอเวอร์บริษัทในสิงคโปร์ใว้ได้แล้ว"นายวีรพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี นายวีรพงษ์ มองว่า การเกิด AEC ในปี 58 เชื่อว่าจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทันหัน เนื่องจากข้อตกลงเป็นการทยอยดำเนินการต่อเนื่อง แต่การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ก่อนคือการแข่งขันของบริษัทต่างๆ ในอาเซียนที่จะมีมากขึ้น บริษัทที่มีศักยภาพมากก็จะอยู่ได้ บริษัทที่มีศักยภาพน้อยก็จะหมดไป แต่ละประเทศมีการปรับกฎระเบียบการบริหารจากอุปสรรคการค้าทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีเพื่อให้ภาคธุรกิจได้เปรียบการแข่งขัน , คุณภาพแรงงานที่จะต้องสูงขึ้น และระดับการศึกษาของบุคลากร

ดังนั้น เมื่อเราสามารถเห็นภาพความแข็งแกร่งของอาเซียนในการรวมกันเป็นระบบเศรษฐกิจเดียวกันแล้ว ก็มีโอกาสที่จะทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งในระดับภูมิภาคเหมือนเช่นการรวมกลุ่มของยุโรป หรือสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ