วงในเชื่อหลังเปิด AEC ตลาดอสังหาฯไทยเนื้อหอมเหตุสาธารณูปโภคพร้อมรองรับ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2012 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ แมนเนจเม้นท์ เชื่อว่า หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 จะทำให้ต่างชาติสนใจอสังหาริมทรัพย์ในไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมทั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ, โรงพยาบาล, โรงเรียนนานาชาติ, โรงแรม รวมไปถึงเมืองท่องเที่ยว

แต่ในแง่ของผู้ประกอบการยังมีความท้าทายในการบริหาร 3 ด้าน ได้แก่ การรักษาฐานลูกค้าเดิม, การกำหนดราคาขาย และอัตราในการทำกำไร ซึ่งนอกจากภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน และการเพิ่มขึ้นของวัสดุก่อสร้าง เช่น ค่าวัสดุก่อสร้างฐานรากสูงขึ้นกว่า 20% และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ปรับขึ้นอีก 10-15% จากปีที่ผ่านมา

ด้านนายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานกรรมการอำนวยการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย มองว่า การที่ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศ แม้จะส่งผลดีทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่อาจเกิดปัญหาด้านสังคม เนื่องจากประชาชนไทยมีรายได้ต่อหัวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งไม่สามารถที่จะสู้เม็ดเงินชาวต่างชาติได้ คนไทยอาจจะประสบปัญหาขาดแคลนที่อยู่และที่ดินทำกิน นอกจากนี้เรื่องของกฏหมายที่ดินยังถือว่าอ่อนแอและมีช่องโหว่

ส่วนการประเมินราคาที่ดินใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนหน้านั้น มองว่าจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น หากผู้ประกอบการผลักภาระไปให้ผู้บริโภคก็จะทำให้ราคาขายปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงค่าโอนและภาษีเฉพาะด้วย แต่ผู้ประกอบการที่ทำโครงการเสร็จเตรียมรอขาย หรือมี Backlog สูงก็จะได้ประโยชน์สูงสุดเนื่องจากต้นทุนที่ต่ำกว่า

ด้านนายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย(SPALI) ระบุว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งปีหลังน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังความมั่นใจผู้บริโภคเริ่มกลับคืนมา โดยเฉพาะคอนโดมีเนียมที่จะเป็นตัวนำตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วน 40-50% ของตลาดรวม ตามมาด้วยห้องแถว และบ้านเดี่ยว

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการวางระบบป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้การเลือกทำเลในการลงทุนใหม่ๆ ต้องมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรื่องของกฎหมายด้านผังเมืองถือว่าอาจจะทำให้ตลาดชะลอตัวลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ