กนอ.เผย 9 เดือนงบประมาณปี 55 ยอดขาย-เช่าที่ดินเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 พันไร่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 9, 2012 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ กนอ.ในรอบ 9 เดือนของปีงบประมาณ 55 (ตุลาคม54—มิถุนายน 55 ) มียอดขายและเช่าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 3,342ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1,113 ไร่ แบ่งเป็นนิคมฯ ร่วมดำเนินงาน 3,305 ไร่ และนิคมฯ กนอ.ดำเนินการเอง 37 ไร่

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนในด้านแผนการป้องกันภาวะน้ำท่วมของรัฐบาล รวมถึงการเป็นฐานการผลิตของไทยที่มีศักยภาพทั้งในเรื่องระบบสาธารณูปโภค การเชื่อมโยงธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ที่จะทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งที่จะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558

อย่างไรก็ตาม กนอ.ยังมีแผนในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตที่จะเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านได้แก่ 1.โครงการจัดตั้งนิคมฯชายแดนด่านพุน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่ง กนอ.ได้รับงบประมาณ 12.50 ล้านบาท เพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นจำนวนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ โดยรูปแบบการพัฒนาจะเป็นนิคมฯบริการด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าเทกอง คอนเทนเนอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดนเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมฯทวาย ประเทศพม่า

2.โครงการจัดตั้งนิคมฯ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม โดยจะพัฒนาในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมบริการ ด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าเทกองคอนเทนเนอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดน และเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึก และนิคมฯทวาย พื้นที่เบื้องต้นที่จะพัฒนาเป็นนิคมฯประมาณ 500 ไร่ โดย กนอ. ได้รับจัดสรรงบประมาณ 6.57 ล้านบาท เพื่อดำเนินการส่งเสริม และเชิญชวนนักลงทุนเพื่อให้เกิดการดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนและหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือน กันยายน 2555

ทั้งนี้ นิคมฯ ดังกล่าวจะรองรับการเชื่อมโยงทางด้านคมนาคมขนส่งเส้นทางสายR3A (ไทย-ลาว-จีนตอนใต้) ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว และเส้นทางสะพานข้ามแม่น้ำโขง (เชียงของ-ห้วยทราย)คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2556 พื้นที่การพัฒนาเป็นนิคมฯ ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งรูปแบบการลงทุนอาจเป็นแบบนิคมฯร่วมพัฒนา

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2556 กนอ.ยังมีโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ โครงการศึกษาความเหมาะสมจัดตั้งนิคมฯในจังหวัดขอนแก่น นิคมฯจังหวัดอุดรธานี นิคมฯในจังหวัดนครพนม นิคมฯในจังหวัดนครราชสีมา นิคมฯสื่อบันเทิง

สำหรับความคืบหน้าของแผนการสร้างเขื่อนคันกั้นน้ำถาวรในพื้นที่เสี่ยง 6 นิคมฯ คือ นิคมฯลาดกระบัง นิคมฯบางชัน นิคมฯบางปู นิคมฯบางพลี นิคมฯสมุทรสาคร และนิคมฯพิจิตร ซึ่งจะใช้วงเงินลงทุน 3,546 ล้านบาท เพื่อนำมาก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรโดยจะเริ่มก่อสร้างภายใน กรกฏาคมนี้

ส่วนการทำเขื่อนกั้นน้ำถาวรในนิคมฯ/เขต/สวนอุตสาหกรรมที่ประสบภาวะน้ำท่วมในปี2จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย บางปะอิน บ้านหว้า (ไฮเทค)บางกะดี โรจนะ นวนคร ขณะนี้การดำเนินงานก้าวหน้า ประมาณ 80%

ขณะที่นิคมฯ สหรัตนนครนั้น ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 3,236.694 ล้านบาท (รวมความยาวรอบพื้นที่ทั้งสิ้น ประมาณ 143กิโลเมตร) เพื่อนำมาก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการปรับปรุงระบบเขื่อนป้องกันอุทกภัยฯ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสมของการก่อสร้างเขื่อนฯของแต่ละแห่ง ประกอบการพิจารณาอนุมัติการเบิกจ่าย ซึ่งเชื่อว่าการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมจะแล้วเสร็จทันเดือนสิงหาคมนี้ ยกเว้นนิคมฯ สหรัตนนครที่คาดว่าจะแล้วเสร็จล่าช้ากว่านิคมฯอื่น อย่างไรก็ดี กนอ.ได้เตรียมความพร้อมแผนสำรองกรณีฉุกเฉินไว้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ