ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP ครึ่งหลังโต 7-9% เป็นผลฐานต่ำ,คงทั้งปี 4.5-5.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2012 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังอาจขยายตัวในกรอบประมาณร้อยละ 7.0-9.0 (YoY) ซึ่งสูงขึ้นกว่าที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 (YoY) ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็เป็นเพราะผลของปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ขณะที่ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังอาจส่งผลกระทบต่อการประคองโมเมนตัมของเศรษฐกิจของไทย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงตัวเลขประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ที่กรอบร้อยละ 4.5-5.5 โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 5.0 ไว้ตามเดิม

อนึ่ง วันนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 2/2555 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 (YoY) ในไตรมาส 1/2555 นำโดย การฟื้นตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล โดยเฉพาะในส่วนที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ และการฟื้นตัวของกิจกรรมฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

ทั้งนี้ แม้ว่าจีดีพีไทยไตรมาส 2/2555 เร่งสูงขึ้น ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบน้ำท่วม โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาส 2/2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (Year-on-Year: YoY) เร่งขึ้นจากตัวเลขทบทวนใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 (YoY) ในไตรมาส 1/2555 ขณะที่ จีดีพีที่ปรับฤดูกาลในไตรมาส 2/2555 ขยายตัวร้อยละ 3.3 (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter: QoQ, s.a.) ชะลอลงจากตัวเลขทบทวนใหม่ที่ร้อยละ 10.8 (QoQ, s.a.) ในไตรมาสแรกของปี 2555 ทั้งนี้ สัญญาณการกลับสู่ภาวะปกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังผลกระทบน้ำท่วมปลายปี 2554 ปรากฏขึ้นในวงกว้างเกือบทุกภาคส่วน

"ในช่วงไตรมาสที่ 2/2555 เป็นช่วงที่แรงกดดันต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนเริ่มลดต่ำลง ขณะที่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็ถูกผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรป และสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ที่น่าจะคาบเกี่ยวเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3/2555 รวมถึงแรงกดดันด้านต้นทุน (จากราคาพลังงาน) และอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่น่าจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาจส่งผลกระทบต่อการประคองโมเมนตัมการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ดังนั้น การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง อาจต้องพิจารณาความสามารถในการรักษาจังหวะการขยายตัวในแต่ละไตรมาสประกอบด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐยังน่าจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความเป็นไปได้ที่โมเมนตัมการขยายตัวของภาคการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง อาจถูกทดสอบโดยปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ โดยเฉพาะตัวแปรวิกฤตหนี้ยุโรป ระดับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ บรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชน (ยกเว้นรายจ่ายบางส่วนที่ได้อานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ) อาจลดทอนสัญญาณบวกลง หลังการเร่งตัวเพื่อฟื้นฟูความเสียหายน้ำท่วมเริ่มเบาบางลง สวนทางกับทิศทางต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อในประเทศที่เตรียมจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ