"กิตติรัตน์"วาง 3 ยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ,ปรับสมดุลศก.-สังคม-สวล.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 10, 2012 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวในการแถลงผลงานของกระทรวงการคลังตามนโยบายของรัฐบาลในรอบ 1 ปีว่า ระยะต่อไปจากนี้ได้วางเป้าหมายยุทธศาสตร์ 3 เรื่องเพื่อรองรับกระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาประเทศ ทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทภและภูมิภาค

ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่คนฐานราก การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานให้ทั่วถึง มีคุณภาพ และการกระจายรายได้และการถือครองทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม

2.ยุทธศาสตร์การสนับสนุนศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ การพัฒนาภคเอกชนให้เกิดการสร้างมูลค่า การเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

และ 3.ยุทธศาสตร์การรักษาความยั่งยืนทางการคลัง ด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงทางการคลัง การส่งเสริมความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงการคลัง

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีเป้าหมายที่จะปรับฐานะการคลังเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุลในปี 60 ภายใต้ประมาณการงบประมาณรายจ่ายและรายได้ที่ 2.941 ล้านล้านบาท จากปีงบประมาณ 56 ที่ยังขาดดุลงบประมาณที่ 3 แสนล้านบาท และจะปรับลดลงต่อเนื่อง

"งบประมาณรายจ่ายปี 56 ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ก็เป็นอัตราการเพิ่มที่น้อยที่สุด จากงบประมาณก่อนที่ 2.38 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 2.4 ล้านล้านบาท ถือเป็นอัตราการเพิ่มแค่ 1%...รัฐบาลต้องดูแลให้มีการบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท จะไม่เป็นภาระงบประมาณรายจ่ายอีกต่อไป จากปีก่อนๆที่ตั้งงบไว้ 68,000 ล้านบาท"นายกิตติรัตน์ กล่าว

สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นความจำเป็นพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยกระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะออก พ.ร.บ.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท ครอบคลุมด้านการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ พลังงาน การสื่อสาร และสาธารณูปการ โดยขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม กำลังเร่งดำเนินการเพื่อนำเสนอร่างกฎหมายต่อครม. และที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเสนอโครงการอาจเป็นวงเงินที่มากกว่าที่ตั้งไว้ เพราะอาจมีบางโครงการที่อาจไม่ได้รับการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงอาจมีการเลื่อนโครงการอื่นๆ มาแทน แต่หากโครงการลำดับต้นๆ ได้รับการอนุมัติแล้ว โครงการลำดับท้ายๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเลื่อนมาพิจารณา

นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงการทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่า ถือว่าพอใจผลการทำงานในทุกด้าน แม้การทำงานบางเรื่องอาจมีติดขัดบ้างแต่ถือว่ามาจากปัจจัยภายนอก โดยที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายทำให้เศรษบกิจขยายตัวโดยที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง โดยมีมาตรการเร่งด่วน 4 ด้าน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากความท้าทายในหลายด้านทั้งเศรษบกิจโลกเปราะบาง และปัญหาภัยธรรมชาติ

ประกอบด้วย นโยบายแก้ปัญหาอุทกภัย เพื่อบรรเทา เยียวยา และป้องกันอุทกภัยในอนาคต โดยระยสั้น ได้มีการขยายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีเร่งด่วน และระยะปานกลาง-ยาง ได้สนับสนุนการลงทุนเพื่อวางระบบบริการจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.5 แสนล้านบาท, นโยบายลดรายจ่ายเพื่อบรรเทาภาระของประชาชนจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ด้วยโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล กาต่ออายุมาตรการค่าครองชีพ และบัตรเครดิตพลังงาน

นโยบายเพิ่มรายได้เพื่อเสริมสร้างกำลังซื้อและความเป็นอยู่ประชาชน ด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท การขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท/เดือน โครงการรับจำนำข้าว และ นโยบายขยายโอกาสเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน ผู้ประกอบการ และประเทศ โดยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 55 และเหลือ 20% ในปี 56 โครงการรถคันแรก โครงการบ้านหลังแรก และกองทุนตั้งตัว

อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ปฎิเสธที่จะกล่าวถึงข้อสังเกตของ นายกรณ์ จาติกวณิช แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ในฐานะอดีต รมว.คลัง โดยกล่าวว่า หากนายกรณ์ ต้องการให้ตอบข้อซักถาม ในฐานะ ส.ส.ฝ่ายค้าน ตนเองพร้อมตอบข้อซักถามในสภา แต่หากเป็นการตั้งข้อสังเกต ซักถามในฐานะประชาชน ก็พร้อมชี้แจงผ่านสื่อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ