ก.เกษตรฯ เดินหน้าโครงการจัดระบบปลูกข้าวต่อ หลังช่วยลดต้นทุน-ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 20, 2012 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิกร จำนง ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแผนการดำเนินการจัดระบบปลูกข้าวในปี 2556 โดยมีโครงการชลประทานที่เข้าร่วมโครงการจัดระบบปลูกข้าว จำนวน 18 โครงการ ได้แก่ พื้นที่โครงการชลประทานเดิมที่เข้าร่วมโครงการในปีที่ผ่านมาจำนวน 16 โครงการ และพื้นที่ชลประทานเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดงที่แยกออกมาจากโครงการชลประทานกำแพงเพชร และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมเป็นพื้นที่ชลประทานรวม 5.01 ล้านไร่ ขณะที่พื้นที่เป้าหมายดำเนินการจัดระบบปลูกข้าวในปี 2556 จำนวน 1,149,600 ไร่

โดยมีหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมดำเนินการภายใต้งบประมาณจำนวน 299.3 ล้านบาท ได้แก่ กรมการข้าว กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมการดำเนินโครงการ ทั้งในด้านการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย การสำรวจความต้องการของเกษตรกร การเตรียมการและแนวทางในการจัดหาเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว พืชหลังนาชนิดอื่นๆ และพืชปุ๋ยสด รวมถึงแนวทางการส่งเสริมด้านการตลาดพืชหลังนา และพืชปุ๋ยสดของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการจัดระบบปลูกข้าวปี 2556 สำเร็จตามเป้าหมายต่อไป ทั้งนี้ จากการที่ได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ดำเนินการประเมินผลโครงการจัดระบบปลูกข้าวปีเพาะปลูก 2554/55 ในพื้นที่ดำเนินงานโครงการ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท พิษณุโลก สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง อยุธยา และสระบุรี ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.- 10 มิ.ย.55 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจัดระบบปลูกข้าวในปีที่ผ่านมาจำนวน 891,987 ไร่ จากพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 1,260,295 ไร่ หรือ คิดเป็นร้อยละ 70.78 พบว่า

หลังจากดำเนินโครงการมีการใช้น้ำชลประทานลดลง 979 ล้าน ลบ.ม. จากเป้าหมาย 1,200-2,000 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการทำการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องจำนวน 368,308 ไร่ ผลผลิตข้าวนาปรังเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 711 กก.ต่อไร่ เป็น 756 กก.ต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.32 จากเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี ที่จะสิ้นสุดโครงการในปี 2557 ร้อยละ 20 พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในช่วงเดือนพ.ย. 2554 - เม.ย. 2555 มีพื้นที่ระบาดเป็นบางจุดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลลดลงเหลือร้อยละ 28 จากร้อยละ 54 ในปี 2553/54 เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังเฉลี่ยลดลงจาก 7,309 บาท/ตัน เหลือ 6,902 บาท/ตัน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 5.57 จากเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี ร้อยละ 15 โดยต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังลดลง เนื่องจากปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง 0.92 กก./ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.40 ของเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี จำนวน 5 กก.ต่อไร่ และมีการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 820 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10.94 ของเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี จำนวน 7,500 ตัน รวมถึงมูลค่าการใช้สารเคมีเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง 52.64 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.53 ของเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี จำนวน 420 บาทต่อไร่ และมีการลดการใช้สารเคมีในพื้นที่เข้าร่วมโครงการมูลค่า 46.95 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.45 ของเป้าหมายทั้งโครงการ 3 ปี จำนวน 630 ล้านบาท และปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเฉลี่ยของเกษตรกรลดลง 1.82 กก.ต่อไร่ ร้อยละ 5.84 โดยลดลงจาก 31.15 กก.ต่อไร่ ในปี 2553/54 เหลือ 29.33 กก.ต่อไร่ ในปี 2554/55

และจากการสำรวจพบว่า เกษตรกรร้อยละ 96 มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการจัดระบบปลูกข้าวอีก โดยร้อยละ 90 เกษตรกรเห็นว่าการจัดระบบปลูกข้าวทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาคิดเสื่อมโทรม เกษตรกรร้อยละ 50 เห็นว่าระบบปลูกข้าวช่วยลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ร้อยละ 48 เห็นว่าทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น และ ร้อยละ 35 เห็นว่าช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งตัวอย่างพื้นที่โครงการชลประทานที่เกษตรกรเห็นด้วยกับโครงการจัดระบบปลูกข้าวและจะเข้าร่วมโครงการในปีต่อๆ ไปถึงร้อยละ 100 ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร โดยร้อยละ 68.29 เกษตรกรยินดีในการจัดหาเมล็ดพันธุ์ในการปลูกพืชหลังนามาดำเนินการเอง แม้ว่าทางภาครัฐมีปัญหาในด้านงบประมาณก็ตาม

"จะเห็นได้ว่าโครงการจัดระบบปลูกข้าวสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคระบาดศัตรูพืชที่เกิดจากการเว้นช่วงการเพาะปลูก รวมถึงการวางแผนการจัดสรรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรได้ ซึ่งในหลายๆ ประเทศก็ได้ดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม และไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการปลูกข้าวให้แก่เกษตรกร และครอบคลุมในทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การปลูกข้าวของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร จากการได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น "นายนิกร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ