นักวิชาการชี้โครงการรับจำนำข้าวส่งผลเสียระยะยาว แนะปรับเกณฑ์ให้เหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 3, 2012 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้โครงการรับจำนำข้าวไม่เป็นผลดีในระยะยาว เพราะทำให้รัฐต้องแบกรับภาระสต๊อกข้าวในจำนวนที่มากเกินไปจนไม่สามารถระบายออกได้หมด จึงควรปรับเปลี่ยนเงื่อนไขด้วยการจำกัดปริมาณรับจำนำ และเน้นช่วยเหลือชาวนารายย่อยมากกว่ารายใหญ่ พร้อมแนะจัดสรรงบประมาณราว 100 ล้านบาทมาศึกษาวิจัยผลจากโครงการดังกล่าวว่าช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้นและปลดหนี้ได้จริงหรือไม่

"ในทางวิชาการเชื่อว่าในระยะยาวรัฐบาลจะมีปัญหาจากการที่รัฐบาลแบกสต๊อกข้าวในปริมาณมากเกินไป และไม่สามารถระบายออกได้หมด เพราะการประกาศรับจำนำแบบไม่จำกัดปริมาณ หรือรับจำนำทุกเมล็ด และตั้งราคารับจำนำสูง เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรนำข้าวเข้าโครงการเกือบหมด อีกทั้งยังทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณในการบริหารจัดการข้าวที่มีปริมาณมากๆ" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

ขณะเดียวกันยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่า งบประมาณที่จะใช้สูงถึง 405,000 ล้านบาทนั้นคุ้มค่าหรือไม่ และจะเป็นภาระต่องบประมาณ หรือก่อให้เกิดหนี้สาธารณะสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลน่าจะเจียดงบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 100 ล้านบาทไปทำวิจัยว่างบประมาณดังกล่าวทำให้เกษตรกรขายข้าวได้สูงขึ้นจริง และเกษตรกรนำเงินนั้นไปซื้อสินค้าได้ประเทศเท่าไร ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกี่รอบ และทำให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้เท่าไร รวมถึงเกษตรกรสามารถปลดหนี้สินได้จริงหรือไม่ หากเกษตรกรมีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอย ปลดหนี้ได้จริง และเศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น ก็น่าจะคุ้มค่ากับการทุ่มงบสูงถึง 4 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตข้าวของไทยที่มีอยู่ถึงปีละกว่า 30 ล้านตัน หากเป็นของเกษตรกรไทยทั้งหมดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลจำเป็นต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาโอบอุ้มเกษตรกรของประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า รัฐบาลควรจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับงบประมาณมากจนเกินไป โดยการจำกัดปริมาณการรับจำนำจากเกษตรกรแต่ละรายให้น้อยลง เช่น ไม่เกิน 15-20 ตัน เน้นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยมากกว่ารายใหญ่ หรือให้รัฐเป็นเจ้าของที่นาแล้วนำมาปล่อยให้เกษตรกรรายย่อยเช่าทำนา รวมถึงควรจะรับจำนำแบบจำกัดปริมาณ เช่น อาจจะ 30% ของปริมาณผลผลิตข้าวทั้งประเทศเหมือนที่ผ่านมา เป็นต้น

"รัฐต้องมานั่งดูแล้วว่า การรับจำนำทุกวันนี้ รัฐมุ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรแบบไหน แบบที่ยังจนดักดาน มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรืออยากช่วยเกษตรกรแบบมีเงินซื้อรถแทรกเตอร์ใช้ได้เอง ซึ่งการจำกัดปริมาณการรับจำนำต่อราย และรับจำนำในปริมาณไม่มาก จะช่วยลดภาระการใช้งบประมาณได้มาก แล้วก็ควรรับจำนำแต่พอดี อย่าทำในระยะยาว เพราะไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า โครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มในเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้น่าจะช่วยทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 0.2% แต่หากทั้งโครงการหรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55-30 ก.ย.56 น่าจะช่วยดันจีดีพีให้เพิ่มขึ้นได้ 0.5-0.7% เพราะคาดว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 150,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ