(เพิ่มเติม) ฟิทช์ชี้สถานภาพเศรษฐกิจไทยยังยืดหยุ่นพอรับมือกับภาวะผันผวนทั่วโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 10, 2012 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ชี้สถานภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีความยืดหยุ่นพอที่จะรับมือกับภาวะผันผวนทั่วโลก แต่การขยายตัวที่ชะลอตัวลงในภูมิภาค รวมทั้งการที่ภาคเอกชนและภาคธนาคารมีบทบาทมากขึ้นนั้น จะยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ

ในงานสัมมนาประจำปีของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จัดขึ้นในวันนี้ ฟิทช์ได้กล่าวสรุปใจความสำคัญว่า สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งในการเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคและอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นทั้งในภาคธุรกิจและภาคสถาบันการเงินเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตได้

ในงานสัมมนาดังกล่าว ฟิทช์ได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณกิตติรัตน์ ณ ระนองเป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา

David Riley กรรมการผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศ จากฟิทช์ เรทติ้งส์ กรุงลอนดอนได้ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงทั้งในด้านของเศรษฐกิจโลกและสำหรับประเทศไทยเอง โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลัก 3 ประการได้แก่ สถานการณ์หน้าผาทางการคลัง หรือ Fiscal Cliff ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจทำให้สหรัฐอเมริกาก้าวสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ประการที่สองคือ วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงดำเนินอยู่ และประการสุดท้ายคือ เศรษฐกิจของประเทศจีนที่อาจจะมีการพังครืนอย่างฉับพลันหรือ Hard Landing

Mr Riley กล่าวว่าในความเห็นของฟิทช์ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายทางการคลังในอนาคตของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่มีผลกระทบมากที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น หากฝ่ายการเมืองของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายทางการคลังได้ภายในสิ้นปีนี้ (ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นสมมติฐานของประมาณการกรณีพื้นฐานของฟิทช์) นโยบายการเพิ่มภาษีและการตัดรายจ่ายรวมจำนวน 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อาจมีผลบังคับใช้ในต้นปี พ.ศ. 2556 ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างถาวร อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาหรืออาจจะรวมถึงเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ แม้แต่ประเทศไทยซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ก็อาจได้รับผลกระทบจากภาวะการณ์ดังกล่าว

Mr Riley กล่าวเสริมว่า “สำหรับยุโรป ฟิทช์มองว่า ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่น่าจะเผชิญกับผลกระทบทั่วโลก อันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นไปได้ด้วยดี เนื่องจากประเทศไทยมีธุรกรรมทางการเงินกับยุโรปในปริมาณที่จำกัดและอยู่ในระดับที่น้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ในขณะที่ธนาคารไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย มีฐานะเงินกองทุนที่ดีและมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนในตลาดการเงินของโลก"

ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของประเทศจีนน่าจะมีการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออกน้อยลง ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับประเทศคู่ค้าของจีน รวมทั้งประเทศไทย ที่จะต้องปรับกลยุทธ์ในการส่งออกโดยมุ่งเน้นที่การบริโภคภายในประเทศจีน

Mark Young กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน กำลังมีอัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการมีธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นกับประเทศจีน ทำให้ทั้งภูมิภาคมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากประเทศจีน นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอลงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังทำให้เกิดความเสี่ยงที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจจะอ่อนแอลงตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นรวมทั้งเพิ่มแรงกดดันต่ออันดับเครดิตของธนาคารในภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีนและประเทศอินเดีย

Mr Young กล่าวด้วยว่า “แม้ว่าธนาคารไทยจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงดังกล่าวได้ แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเครดิตของธนาคารไทยถือได้ว่ามีเสถียรภาพมากขึ้นสำหรับอันดับเครดิตที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans) อยู่ในระดับเกือบต่ำสุดเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตรวมถึงมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่สูง ประเด็นที่ควรจับตามองได้แก่การเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อและแหล่งเงินทุนที่มีความตึงตัวมากขึ้น"

คุณเลิศชัย กอเจริญรัตนกุล หัวหน้าจัดอันดับเครดิตภาคอุตสาหกรรมไทย บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทในหมวดพลังงานของไทยและในภูมิภาคมีการเข้าซื้อกิจการและการลงทุนมากขึ้นเพื่อรองรับอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบที่จำกัดต่ออันดับเครดิต เนื่องจากฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทเหล่านี้ รวมถึงการมีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดในด้านอันดับเครดิตกับอันดับเครดิตของประเทศ แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการและค่าใช้จ่ายลงทุนในจำนวนเงินที่สูงจะเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะเครดิตของบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) เมื่อพิจารณาตัวบริษัทเองเพียงอย่างเดียว แต่อันดับเครดิตของ ปตท. ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการสนับสนุนของรัฐบาลทำให้มีการปรับอันดับเครดิตขึ้น 1 อันดับจากอันดับเครดิตเมื่อพิจารณาตัวบริษัทเองเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ในงานสัมมนายังมีการจัดเวทีเสวนาในประเด็นโอกาสและความเสี่ยงที่สำคัญในภูมิภาค โดยมีดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และคุณวิน พรหมแพทย์ หัวหน้างานลงทุนต่างประเทศและอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานประกันสังคม เข้าร่วมการเสวนา โดย Vincent Milton กรรมการผู้จัดการของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัดเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

งานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจและการเงิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานของรัฐ เข้าร่วมงานมากกว่า 350 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ