(เพิ่มเติม) นายกฯมอบหมายบุญทรงและผู้เกี่ยวข้องชี้แจงโครงการรับจำนำข้าว-ระบายข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday October 13, 2012 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ประจำวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการโดยมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว ชี้แจงถึงผลประโยชน์ของโครงการ ประกอบด้วย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์รมว.พาณิชย์, ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.), นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย และ นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

โดยนายบุญทรง ยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งย้อนไปในอดีตราคาข้าวไม่เคยเกิน 1 หมื่นบาท เกษตรกรเป็นหนี้แต่ละปี และพอกพูนมาเรื่อย ๆ วันนี้ เกษตรกร มีรายได้เหลือ ก็สามารถนำไปใช้หนี้เก่าและใช้ในครัวเรือนต่อไป เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาจริงๆ แม้รายได้ต่อเดือนจะยังน้อย ส่วนการระบายข้าวต้องไม่กระทบต่ออุปสงค์อุปทาน และไม่ให้กระทบต่องบประมาณ ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีมีการระบายข้าว 6 ครั้ง มีการคุยกับผู้ส่งออกที่ยืนยันจะสั่งข้าวของรัฐบาล เพื่อให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยจะเร่งส่งออกข้าวให้เร็วที่สุด ส่วนข้อขัดแย้งกับภาคเอกชนที่ผ่านมาอาจเป็นการพูดคนละที ขอยืนยันว่าความสัมพันธ์ของผู้ส่งออกกับกระทรวงพาณิชย์ไม่มีปัญหา และไม่มีใครต้องการให้ระบบการค้าล้มเหลว

ทั้งนี้ การระบายข้าวหลังการจำนำข้าวมี 4 วิธี 1.แบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี 2.การเปิดประมูล 3.ผ่านตลาดกลางสินค้าเกษตรล่วงหน้า และ 4.ช่องทางอื่น อาทิ ผ่านหน่วยงานของรัฐ อย่างกรมราชทัณฑ์ และกองทัพ เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติมาตลอด อย่างไรก็ตามในปีนี้เน้นแบบจีทูจีเป็นพิเศษในการระบายข้าวจำนวน 7.3 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ระบายได้ประมาณ 1 ล้านกว่าตัน ส่วนภายในปลายปีน่าจะได้อีก 1 ล้านกว่าตัน ที่เหลือ 5 ล้านกว่าตันจะส่งมอบประมาณปลายปี 2556 ซึ่งจะระบายได้ทั้งหมด

ส่วนสต๊อกข้าวที่เหลืออีก 6.7 ล้านตัน จากยอดรับจำนำข้าว 14 ล้านตัน นอกจากระบายแบบจีทูจี และขายในประเทศแล้ว ยืนยันสต๊อกที่มีอยู่ไม่มีปัญหา แต่เก็บสต๊อกเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร และดูราคาตลาดโลกเป็นหลัก มั่นใจว่าสามารถระบายได้ ระหว่างข้าวใหม่จะเข้าสู่โครงการ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเงินที่จัดสรรให้ ธ.ก.ส.นำส่งกระทรวงการคลังแล้ว 4 หมื่น 2 พันล้านบาท และจะทยอยนำส่งต่อไป ไม่มีปัญหาแน่นอน ขณะที่ปัญหาอุปสรรคในการจำนำข้าวได้เพิ่มจุดจำนำข้าว มีการให้เกษตรกรเข้าร่วม 3 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คนในแต่ละจุด เพื่อป้องกันการทุจริต

นอกจากนี้ ยังติดตั้งกล้องซีซีทีวี ระบบไอที และดาวเทียม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการถ่ายภาพที่นาทั้งหมด เชื่อมโยงกับข้อมูลบุคคล มีกระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงไอซีที เข้ามาทำงานแบบบูรณาการในเรื่องระบบข้อมูลในส่วนของเนื้อที่การปลูกข้าวที่แท้จริง และยังมีคณะกรรมการอีกคณะหนึ่ง โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ดูแลร่วมกับดีเอสไอในการป้องปรามทุจริตจำนำข้าว

พร้อมย้ำว่า อยากให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวตามฤดูกาล เพื่อให้ข้าวมีคุณภาพขายได้ราคา ซึ่งได้มีการปรับเกณฑ์ในการเพิ่มช่วงรับจำนำข้าว อย่างนาปรังฤดูกาลละครั้งเพิ่มเป็น 2 ครั้ง เป็นต้น ทำให้ชาวนาไม่ต้องเร่งเก็บเกี่ยวหรือเก็บเกี่ยวก่อนซึ่งมีผลต่อคุณภาพข้าว ส่วนกระแสข่าวจะมีการเก็บสต๊อกข้าวในสนามบินดอนเมืองนั้น ยอมรับว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เสนอมา ซึ่งเป็นไอเดียที่ดี แต่ต้องพิจารณาอีกที เพราะโกดังเก็บข้าวจะต้องมีโครงสร้างที่ดี มีการระบายอากาศที่ดี เป็นเรื่องของเทคนิค ยังไม่ได้ตัดสินใจจะใช้สถานที่ดังกล่าวแต่อย่างใด

ขณะที่ ดร.โอฬาร กล่าวว่า เมื่อขายข้าวได้แล้วจะมีเงินกลับเข้ามาในระบบ ซึ่งการขายแบบจีทูจีถือว่าเป็นการระบายข้าวที่ดีกว่า เพราะมีการจ่ายเงินล่วงหน้า ถือเป็นความมั่นคงทางด้านการเงิน เป็นไปตามเงื่อนไขกับประเทศผู้ซื้อ ในลักษณะเงินมัดจำและให้มีการจัดส่งในปีหน้า อาทิ อาจซื้อไปบริจาคแก่ประเทศยากจน เป็นต้น นอกจากนี้ การที่ออกบัตรเครดิตชาวนา เพื่อซื้อวัถตุดิบการเกษตรมาปลูกข้าวจะทำให้ข้าวได้คุณภาพ ในการขายให้กับต่างประเทศที่ต้องการข้าวระดับพรีเมียม

ด้านนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมการป้องกันการทุจริตโครงการจำนำข้าวว่า ต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่ราคาค่าเช่าคลังข้าวในภูมิภาคว่าเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร ซึ่งมีระบบการติดตามเป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่ต้นทาง ปลายทาง ที่ผ่านมาทางรัฐบาลให้ความสำคัญในการตรวจสอบ มีอนุกรรมการตรวจสอบทุกขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจว่าหลักเกณฑ์ที่ตั้งมามีการปฏิบัติตาม แต่ยอมรับว่าในสังคมต้องมีคนปฏิบัตินอกกฎ แต่เมื่อพบการทุจริตได้ส่งให้ตำรวจดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังมีการปรับหลักเกณฑ์หนังสือรับรอง ไม่ให้มีการสวมสิทธิ์ กรณีข้าวเติมไม่เต็มแล้วเอาข้าวอื่นมาเติมไม่สามารถทำได้เพราะถือเป็นการสวมสิทธิ์ และเสริมความเข้มงวดในจุดรับจำนำ มีการร่วมมือกับตำรวจในการป้องปราม เน้นให้ความเป็นธรรมในการชั่งน้ำหนัก วัดความชื้น และหลังการรับจำนำยังมีคณะอนุกรรมการติดตามอีกต่อหนึ่ง อย่างไรก็ตามโครงการรับจำนำข้าวต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าข้าวที่ร่วมโครงการต้องเป็นข้าวคุณภาพเพื่อให้ได้ราคาที่ดี โดยที่ผ่านมาสูงกว่าเวียดนามเกือบ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน โดยจะเน้นข้าวหอมมะลิในการส่งออก

ขณะที่นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า การระบายข้าวแบบจีทูจีต้องยืดหยุ่นแล้วแต่ประเทศ โดยขายตามราคาเอฟโอบี ซึ่งราคาสูงกว่าเวียดนาม เนื่องจากเป็นข้าวที่มีคุณภาพ อาทิ ข้าวหอมมะลิ ต้อง 98% ยอมรับที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวอยู่บ้าง จึงขอร้องชาวนาผลิตข้าวให้มีคุณภาพ มีการเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูจริงๆ โดยปีหน้าอาจมีการพิจารณาในการขายข้าวในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ แยกข้าวเก่าออกจากกัน ให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการขายจากความต้องการแต่ละประเทศ

ส่วนนายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า จากข้อมูลข้าวเปลือกทั้งหมดในประเทศมีประมาณ 21.7 ล้นตัน มีเข้าร่วมโครงการรับจำนำประมาณ 14 ล้านตัน ทำให้รายได้ต่อคนต่อเดือนของชาวนาดีขึ้นประมาณ 6-7 พันบาท ซึ่งการส่งออกข้าวขายต้องทำให้ได้ราคาที่ดี โดยไม่อยากเป็นแชมป์ส่งออก แต่ไม่ได้ราคา ทั้งนี้ อาจลงทุนเรื่องไซโลในการเก็บข้าวให้นานขึ้น เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยราคาข้าวไม่เปลี่ยนแปลง และในการจำนำข้าวนาปรังปีหน้า จะบังคับให้ข้าวมีอายุมากขึ้นเพื่อให้ข้าวมีคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ