"หมอลี่"ยันค่ายมือถือต้องลดค่าบริการ 3G หลังไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน-IC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2012 18:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะคณะกรรมโทรคมนาคม(กทค.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และ 1 ในกรรมการ กทค.ที่ไม่รับรองผลการประมูลใบอนุญาต(ไลเซ่นส์) 3จี คลื่นความถี่ 2.1 GHz กล่าวถึงบทความของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ที่มองว่าการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช.ปฎิบัติภารกิจล้มเหลว โทรศัพท์เคลื่อนที่สายหลุดบ่อย และบริการบรอดแบนด์มีความเร็วช้ากว่าที่ผู้ประกอบการโฆษณาไว้มาก โดย กสทช.ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ

นพ.ประวิทย์ ระบุว่า ในฐานะกรรมการ กทค.ยอมรับว่าขณะนี้คุณภาพการให้บริการโทรศัพท์มือถือสายหลุดบ่อย อินเตอร์เน็ตช้า เนื่องจากเกิดการแออัดของการใช้งานโครงข่ายสัญญาณ อย่างไรก็ตาม ในการประมูล 3 จี จะช่วยขยายโครงข่ายเพื่อตอบสนองการใช้งานที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งผู้ประกอบการต้องรักษา ปรับปรุงโครงข่ายระบบ 2 จี และ 3 จี เช่นกัน

ส่วนปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการปัจจุบันยอมรับว่ามีความล้าช้า เนื่องจากในสมัยเป็นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) มีสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคมที่คอยรับเรื่องร้องเรียนผ่านทางโทรศัพท์ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง แต่พอกลไกการทำงานเข้าสู่ระบบราชการมีขั้นตอนมาก เช่น การลงชื่อ กระบวนการดำเนินการต่างๆ จึงเกิดความยุ่งยาก

สำหรับความกังวลเรื่องอัตราค่าบริการที่จะไม่ลดลงนั้น ขอให้เชื่อมั่นว่าต้นทุนของผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือจะลดลงเนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานมือถือปัจจุบัน 20-30%ต่อปี เนื่องจากใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงแค่ 5.75% และค่าเชื่อมต่อโครงข่าย(IC) เป็นเปรียบเสมือนราคาขายส่งระหว่างผู้ประกอบการที่หากไม่สามารถตกลงกันได้ค่า IC จะถูกกำหนดลดลงอีก 50% จากในปัจจุบัน ราคา 0.99 บาทต่อนาที

ดังนั้น ค่าบริการที่ผู้บริโภคได้รับต้องถูกลงและผู้ประกอบการควรมีแพ็กเกจหลากหลาย ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึงโอกาสการใช้งานอย่างเท่าเทียม

ขณะที่สถิติเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในช่วงเดือน พ.ย.54-พ.ค.55 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนที่ค้างพิจารณาไม่แล้วเสร็จในเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนดถึง 85% ในส่วนของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ 78% ในส่วนของบริการอินเตอร์เน็ต จนเป็นสาเหตุประกาศเจตนารมย์ของ กสทช.ที่ออกมาดูว่างเปล่าไร้น้ำหนักจนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแต่เพียงการแก้เกี้ยวเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ